นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เปิดเผยแผนงานในปี 55 ว่า บริษัทยังคงตั้งเป้าเติบโต 20% ของทั้งยอดขายและกำไร และสินค้าหลักสำคัญของบริษัทยังจะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ พร้อมๆ กับการมุ่งขยายตลาดใหม่ในยุโรปอย่างเช่น รัสเซีย เยอรมัน และสแกนดิเนเวีย ซึ่งบริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์สจะเป็นผู้ขับเคลื่อนสำหรับตลาดยุโรป ขณะที่ TUF เองจะขยายตลาดเข้าไปยังอัฟริกา และอเมริกาใต้ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ เรื่องของการลดหนี้ยังต้องมีการควบคุมและดำเนินการด้านการเงินอย่างเคร่งครัด และจากผลการดำเนินงานที่ดีในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ ณ สิ้นปี 54 อัตราหนี้สินต่อทุนลดลงอย่างรวดเร็วโดยลงมาอยู่ที่ระดับ 1.47 เท่า จากที่ระดับ 1.61 เท่า ณ สิ้นปี 53 ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ให้กลับลงมาอยู่ในระดับปกติ 1:1 อีกครั้งภายในปี 56
จากนโยบายและกลยุทธ์ที่ผ่านมา สามารถยืนยันถึงความสามารถด้านการบริหารจัดการด้านธุรกิจและการเงินที่มีประสิทธิภาพ ด้วยขนาดของธุรกิจและลักษณะองค์กรที่มีการขยายตัวตลอดเวลาแต่บริษัทก็สามารถจัดการได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกันประสิทธิภาพของการดำเนินงานนี้ก็ทำให้บริษัทมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายการดำเนินงานที่ทำให้ธุรกิจเติบโต พร้อมๆ กับขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมอย่างยิ่งด้วยความแข็งแกร่งทางธุรกิจอาหารทะเล บริษัทมีความพร้อมทั้งด้านการผลิต การตลาด และความแข็งแกร่งในเรื่องของแบรนด์สินค้าปลาทูน่าที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก และเป้าหมายต่อไปของบริษัทคือ การเติบโตที่ระดับ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 56
สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 54 บริษัทมีรายได้จากการขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 3,232 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 43% เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีรายได้เท่ากับ 2,268 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้จากการขายในรูปของเงินบาทเท่ากับ 98,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้เท่ากับ 71,507 ล้านบาท
ส่วนกำไรสุทธิทั้งปีก็มีการเติบโตที่ดีเช่นเดียวกัน โดยบริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 5,075 ล้านบาท เพิ่มสูงถึง 77% เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,874 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกำไรต่อหุ้นทั้งปีเท่ากับ 5.30 บาท เพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ส่วนผลการดำเนินงานเฉพาะงวดไตรมาส 4/54 นั้น บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มสูงถึง 332% จากกำไรสุทธิที่ 352 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 4 ของปี 53 เป็นกำไรสุทธิที่ 1,523 ล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2554 ขณะที่รายได้จากการขายก็มีการเติบโตเช่นเดียวกันทั้งในรูปของเงินเหรียญสหรัฐและในรูปของเงินบาท โดยในรูปของเงินเหรียญสหรัฐมีรายได้เท่ากับ 837 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ที่มีรายได้เท่ากับ 687 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนรายได้ในรูปของเงินบาทในไตรมาส 4 นี้เท่ากับ 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ที่มีรายได้เท่ากับ 20,649 ล้านบาท
"ปีนี้เป็นอีก 1 ปีที่บริษัทสามารถสร้างและรักษาอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิได้ดีเกินคาด และยังสามารถทำรายได้สู่ระดับ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี จากที่ตั้งไว้ 4 ปี คือในปี 55 ถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก เนื่องจากสามารถทำสำเร็จได้เร็วขึ้นกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึงหนึ่งปี ซึ่งคณะผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีความพึงพอใจอย่างมากกับผลงานที่ออกมาในปีนี้"นายธีรพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยในประเทศและต่างประเทศก็ดีมาก โดยเฉพาะบริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์ส ที่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ทุกไตรมาส อีกทั้งการรวม Synergies ต่างๆ ของบริษัท และเอ็มดับบลิว แบรนด์สเข้าด้วยกันก็สอดคล้องและเป็นไปอย่างราบรื่น ประกอบกับการเติบโตของยอดขายในทุกผลิตภัณฑ์ก็สูงขึ้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายโดดเด่นในปีนี้ได้แก่ ปลาซาร์ดีน/แมคเคอเรลกระป๋อง มียอดขายเติบโตถึง 81% ปลาทูน่า โต 70% กุ้ง โต 22% และอาหารแมว โต 10% เป็นต้น ทำให้มาร์จิ้นในปีนี้เท่ากับ 16.6% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีมาร์จิ้นเท่ากับ 13.3%
และสำหรับสัดส่วนส่งออกของบริษัทโดยแบ่งตามยอดขายผลิตภัณฑ์ในปี 54 ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า มีสัดส่วนการส่งออกถึง 48% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท รองลงมาได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 19% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 7% ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 6% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 5% ปลาแซลมอนแช่แข็ง 5% อาหารกุ้ง 5% ปลาซาร์ดีน/แมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง 4% และปลาหมึกแช่แข็ง 1% ส่วนสัดส่วนรายได้ของบริษัทโดยแบ่งตามตลาด มีดังนี้ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 36% สหภาพยุโรป 32% ญี่ปุ่น 10% ขายในประเทศ 10% อัฟริกา 3% โอเชียเนีย 3% ตะวันออกกลาง 2% เอเชีย 2% แคนาดา 1% และอเมริกาใต้ 1%
ส่วนเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นบริเวณโรงงานกุ้งของบริษัทที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 11 ก.พ.55 ที่ผ่านมา นายธีรพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ และความเสียหายยังอยู่ระหว่างการเข้าตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ของความเสียหายจะอยู่เฉพาะบริเวณโรงกุ้งเท่านั้น ส่วนของการผลิตสินค้าอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่อยู่คนละส่วนกัน
สำหรับโรงงานกุ้งที่เกิดเหตุดังกล่าว เป็นเพียง 1 ใน 2 โรงงานที่ผลิตและส่งออกกุ้ง ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 120 ตันต่อวัน แต่ในช่วงไตรมาส 1 นี้เป็นช่วง Low Season ของการผลิตกุ้ง ดังนั้นกำลังการผลิตในช่วงนี้จะอยู่ประมาณ 60% ของกำลังการผลิตเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ดำเนินการย้ายกำลังการผลิตส่วนหนึ่งไปยัง บจ. ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด ที่จังหวัดสงขลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออีกแห่งที่ดำเนินการผลิตกุ้ง อีกส่วนหนึ่งคือการใช้กำลังการผลิตภายในของ TUF เอง ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถรองรับการผลิตและส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ทั้งหมด
พร้อมกันนี้บริษัทเชื่อมั่นว่า จะสามารถบริหารจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิต การส่งมอบสินค้า การปรับปรุงซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย และสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ให้ทันกับช่วง High Season ของกุ้ง ที่จะเริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคม สำหรับยอดขายสินค้ากุ้งในปี 2553 เฉพาะโรงงานที่เกิดเหตุที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร มียอดขายรวม 233 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7% ของยอดขายรวมของทั้งกลุ่มบริษัท