น.ส.รติรัตน์ เหล่าวิวัฒน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชี บมจ.สหโมเสคอุตสาหกรรม (UMI) คาดว่า กระบวนการทำคำเสนอซื้อหุ้นมากกว่า 30% แต่ไม่เกิน 40% ใน บมจ.โรแยล ซีรามิคอุตสาหกรรม (RCI)ที่ราคา 0.90 บาท/หุ้น จะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนมิ.ย. 55 คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 85-115 ล้านบาท โดยยอมรับว่าในระยะสั้นอาจยังไม่เห็นผลตอบแทนจากการลงทุน แต่บริษัทมองถึงความคุ้มค่าของการลงทุนในระยะยาว
ด้านนายสุทิน ยุทธนาวราภรณ์ ผุ้จัดการฝ่ายขายและการตลาด UMI กล่าวว่า การลงทุนใน RCI จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ของบริษัทให้เป็น 13-14% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% เนื่องจากการเป็นพันธมิตรกันจะทำให้มีสินค้าหลากหลายมากขึ้น และยังทำให้กำลังการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้าน ตร.ม/เดือน จากปัจจุบันกำลังการผลิตของ UMI อยู่ที่ 20 ล้าน ตร.ม./เดือน และในปีนี้จะมีการเดินเครื่องผลิตเกือบเต็มกำลังแล้วที่ 90%
"หากการเข้าซื้อหุ้นใน RCI ไม่สำเร็จ บริษัทก็มองหาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการจากรายอื่น เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตของบริษัทใกล้เต็มกำลังการผลิตแล้ว ที่เราดูไว้มี 2 ทาง คือ ถ้าซื้อ RCI ไม่ได้ ก็ต้องมีการขยายกำลังการผลิต ซึ่งก่อนหน้านี้บอร์ดได้อนุมัติเงินลงทุน 3 ปี ไว้ที่ 500 ล้านบาทตั้งแต่ปลายปี 53 ตอนนี้ใช้ไปแล้วประมาณ 100 ล้านบาท" นายสุทิน กล่าว
น.ส.รติรัตน์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายในปี 55 เติบโต 8% มาที่ 2.7 พันล้านบาท โดยมีแผนลงทุนราว 100 ล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ผลิตกระเบื้อง อีกทั้งในไตรมาส 1/55 บริษัทวางแผนจะเปิดตัวนวัตกรรมล่าสุด "Duragres Full HD Tiles" ผลิตโดยเครื่องจักรดิจิตอล ปรินติ้ง เทคโนโลยี สั่งจากต่างประเทศเพื่อให้ลวดลายบนกระเบื้องสมจริงและมีมิติ ตั้งเป้ามียอดขายที่ 100 ล้านบาท
แผนการตลาดในปีนี้จะเน้นส่งกระเบื้องนวัตจรกรรมออกสู่ตลาดหลังประสบความสำเร็จในการเปิดตัวกระเบื้องนวัตกรรมต่างๆ โดยปีนี้จะเน้นเปิดตัวเซรามิกขัดขอบแบบแห้ง (Rexury Tiles) ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดจากดูราเกรส เป็นกระเบื้องเซรามิกแบบขอบเรียบ ตรง 90 องศา และสามารถปูชิดได้เว้นร่องยาแนว 1.5 มิลลิเมตร เน้นจับกลุ่มลุกค้าที่ชอบความหรูหราเป็นหลัก ตั้งเป้าหมายยอดขายปีนี้ 50 ล้านบาท
นายสุทิน กล่าวอีกว่า บริษัทมีโอกาสจะปรับขึ้นราคาขายผลิตภัณฑ์ภายในปีนี้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากต้นทุนด้านพลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบ หากราคาก๊าซซึ่งถือเป็นต้นทุนในการผลิตที่ปัจจุบันอยู่ที่ 430 บาท/ล้านบีทียู เกินระดับราคา 450 บาท/ล้านบีทียู มีโอกาสที่จะต้องปรับขึ้นราคาขาย เพียงแต่ขณะนี้บริษัทยังคงตรึงราคาต่อไป แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน และวัตถุดิบต่อเนื่องทุกเดือน
ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับราคาขายไปแล้ว 3% ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันกระทบต้นทุนประมาณ 1% แต่บริษัทได้มีการคาดการผลกระทบดังกล่าวล่วงหน้าไว้แล้ว คงไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัฯ โดยบริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อให้โรงงานกลายเป็น Plant Mechanization and Automation เพื่อช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการผลิตและทดแทนการขาดแคลนแรงงานแล้ว
สำหรับในปี 55 ประเมินว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์กระเบื้องน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 7% จากปีก่อนที่มีมูลค่าความต้องการของตลาด 170 ล้าน ตร.ม. เนื่องจากมองว่าหลังน้ำท่วม ทำให้ความต้องการซ่อมแซม ฟื้นฟู ที่อยู่อาศัยมีมากขึ้น เห็นได้จากช่วงเดือนม.ค. 55 มีสัญญาณการใช้จ่ายของประชาชนที่มีมากขึ้น
ขณะที่การเปิดตลาดเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียน(AEC) มองว่าจะทำให้บริษัทมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ส่งออกอยู่ที่ 10% โดยแบ่งเป็นการขายในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน, การส่งออกไปขายในตลาดเอเชีย จีน อินเดีย ศรีลังกา และอีกส่วนส่งออกไปยังยุโรป และสหรัฐ
"หลังเปิด AEC มีเป้าหมายที่จะขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นและมีโอกาสเข้าไปลงทุนในสร้างโรงงานในต่างประเทศ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการศึกษาในเรื่องดังกล่าว"นายสุทิน กล่าว