SSI คาดปริมาณบริโภคเหล็กปี 55 สูงขึ้นตามดีมานด์โลก-นโยบายรัฐ -อุตฯโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 27, 2012 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี(SSI)คาดการณ์ว่า ในปี 55 ปริมาณการบริโภคเหล็กจะปรับตัวสูงขึ้น หลังอุตสาหกรรมเหล็กได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 4 ไปแล้ว สมาคมเหล็กโลกประเมินความต้องการใช้เหล็กของโลกในปี 55 เติบโตขึ้นร้อยละ 4.5 หรือประมาณ 1,460 ล้านตัน โดยประเทศเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

สำหรับประเทศไทยผลของนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มงบประมาณซ่อมแซมสาธารณูปโภคและฟื้นฟูอุตสาหกรรม การเพิ่มค่าแรง นโยบายรถคันแรก และบ้านหลังแรก จะเป็นตัวเร่งเพิ่มอุปสงค์โดยรวมและอัตราการบริโภคเหล็กในปี 55 ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว

นายวิน กล่าวว่า บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานที่สำคัญ คือ โครงการปรับปรุงโรงถลุงเหล็ก SSI UK ซึ่งกำลังเร่งให้เปิดดำเนินการได้โดยเร็วในไตรมาส 1/55 โดยเป้าหมายการผลิตเหล็กแท่งแบนในปี 55 คือ 2.5 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับ 3.6 ล้านตันต่อปีในไตรมาส 4/55 ส่วนอุปกรณ์ Pulverized Coal Injection (PCI)ที่จะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ประมาณ 30 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน จะเริ่มใช้งานได้ภายในไตรมาส 4/55

และ 2.โครงการเครนหน้าท่า PPC ของธุรกิจท่าเรือน้ำลึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนถ่ายเหล็กแท่งแบน และผลิตภัณฑ์เหล็กอื่นๆ ของบริษัทฯ ที่ขนส่งด้วยเรือ Panamax ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ประมาณ 7.5 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งจะติดตั้งพร้อมใช้งานเดือน เม.ย.55

นอกจากด้านธุรกิจแล้วบริษัทยังประสบผลสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชนโดยได้รับรางวัล SET AWARDS 2011 บริษัทจดทะเบียนดีเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility Awards) และรางวัลต่างๆ ในระดับประเทศที่สำคัญ อาทิ รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการจัดการด้านพลังงาน รางวัลเชิดชูเกียรติสถานประกอบกิจการดีเด่น ด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน 5 ปี ติดต่อกัน (49-53) อีกด้วย

SSI เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 4/54 ว่าบริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการ 13,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 10,740 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 21% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 2,376 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 2,965 ล้านบาทในไตรมาส 3/54 และกำไรสุทธิ 55 ล้านบาทในไตรมาส 4/53

"ปี 54 เป็นปีที่ทำธุรกิจยากลำบากมาก บริษัทเหล็กใหญ่ในโลกต่างขาดทุนกันส่วนใหญ่ ประสบปัญหาหนักตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะปัญหาอุทกภัยควีนส์แลนด์เมื่อต้นปี ปัญหาแผ่นดินไหวญี่ปุ่นเดือนมีนา ปัญหามหาอุทกภัยไทยในไตรมาส 4/2554 และปัญหากลุ่มอียูที่ย่ำแย่ลงตลอดจากต้นปีจนถึงปลายปี ส่งผลกระทบทั้งยอดขายและการขาดทุนของสินค้าคงคลัง"นายวิน กล่าว

ผลประกอบการประจำปี 54 ยอดขายกลุ่ม 47,975 ล้านบาท ลดลงเพียง 0.2% จากปีก่อน ถึงแม้ว่าธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศไทยยอดขายลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือ 21% เนื่องจากลูกค้าประสบปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงักในไตรมาส 2 และ 4/54 แต่มีรายได้การขายโค้กจากธุรกิจโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษเกือบ 10,000 ล้านบาทเข้ามาชดเชยแทน จึงสามารถรักษายอดขายให้ใกล้เคียงเดิมได้

ในส่วนธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน ขาดทุน 444 ล้านบาท แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรค่อนข้างดี ราคาขายเฉลี่ย 769 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงขึ้น 16% และค่าการรีด(HRC Spread) 129 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงขึ้น 9% แต่เนื่องจากปริมาณการผลิตที่ตกต่ำจากปัญหาข้างต้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าปกติ และมีการขาดทุนสินค้าคงคลังในช่วงปลายปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ