นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ(BECL)คาดว่ารายได้รวมในปี 55 จะเติบโตราว 3% จากปี 54 ที่มีรายได้รวม 7.65 พันล้านบาท ภายใต้คาดการณ์ปริมาณการจราจรในปีนี้เติบโต 4% จากปีก่อนที่มีปริมาณรถรวม 1,024,867 คัน/วัน มาเป็น 1,067,006 คัน/วัน จากนโยบายรัฐที่ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น รวมทั้งบรรยากาศการเมืองสงบขึ้น และคาดว่าปีนี้จะไม่เกิดน้ำท่วม
"ปีนี้เรายังไม่แน่ใจว่าจะมีกำไรดีกว่าปีที่แล้ว ต้องขอดูอีกสักระยะหนึ่ง ปีนี้เราต้องรัดเข็มขัด เพราะปีนี้ revenue sharing ลดลงเหลือ 40% เต็มปี จากปีที่แล้ว 10 เดือน และปีนี้เรายังปรับขึ้นค่าทางด่วนไม่ได้"นางพเยาว์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีการบันทึกรายได้พิเศษในปีนี้จะการประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงัก จากเมื่อปลายปีที่แล้วสำหรับทางด่วน C+ ที่ปิดไป 6 ด่านจากทั้งหมด 10 ด่านจากภาวะน้ำท่วม
นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้รถบนทางด่วนในวันเสาร์อาทิตย์สูงขึ้น โดยในวันเสาร์มียอดใช้รถเพิ่มเป็น 90%ของวันธรรมดาจากเดิมใช้อยู่ 75-80% และในวันอาทิตย์ยอดใช้รถเพิ่มเป็น 80%ของวันธรรมดาจากเดิม 65%
ขณะเดียวกันในปีนี้บริษัทมีเพียงการลงทุนทางเชื่อมจตุรทิศกับทางด่วนศรีรัช จำนวน 200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ทางด่วน และในอนาคตบริษัทจะร่วมทำทางเชื่อมโยงกับช่องจรจจรอื่น เช่น ทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ เป็นต้น
นางพเยาว์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนจะออกและเสนอขายหุ้นกู้อย่างน้อย 4 พันล้านบาท อายุ 3 ปี เพื่อชดเชยหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอน 2 พันล้านบาท และนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยคาดว่าจะเสนอขายหุ้นกู้งวดแรกราว 1-2 พันล้านบาทในเดือน มี.ค.55 โดยปัจจุบันบริษัทมีเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยคงที่ 1.34 หมื่นล้านบาท เงินกู้ดอกเบี้ยลอยตัว 5.5 พันล้านบาท รวมเงินกู้ 1.89 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.32%
บริษัทยังคาดว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)จะสรุปผลการเจรจาสัมปทานทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกภายในเดือน พ.ค.มูลค่าโครงการกว่า 2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 56 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี จากนั้นจึงจะเริ่มรับรู้รายได้ โดยบริษัทเตรียมจัดหาเงินกู้จากสถาบันการเงิน หรืออาจจะออกหุ้นกู้ระยะยาว วงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังมีความสามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E) ที่ 1.1 เท่า
พร้อมกันนั้น ในปีนี้บริษัทจะมีการเจรจากับภาครัฐเพื่อขอปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เพื่อให้มีผลในวันที่ 1 ก.ย.56 ทั้งนี้อัตราเพิ่มขึ้นกับข้อตกลงระหว่าง กทพ. ที่จะใช้อัตราเงินเฟ้อ (CPI) 5 ปีย้อนหลังเฉลี่ย สิ้นสุด ก.พ. 56 ขณะที่บริษัทจะใช้ CPI ในปี 50 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่บริษัทใช้คำนวณปรับขึ้นค่าผ่านทาง
ขณะเดียวกัน บริษัทมีความพร้อมเจรจากับ กทพ.ในการต่อสัญญาสัมปทานบริหารทางด่วน ขั้นที่ 1-2 และส่วน A,B,C ที่จะหมดอายุสัญญาในเดือน มี.ค.63 โดยในสัญญาระบุว่าบริษัทสามารถต่อสัญญาได้อีก 10 + 10 ปี จาก 30 ปีแรก
"เราพร้อมคุยต่อสัญญาสัมปทาน เราอยากคุยข้อพิพาทให้หมดไป เพราะเราร่วมทุนไม่ใช่มาขัดแย้งกัน แต่เราพิสูจน์ว่าเรากระทบจริง เราคุยกันโดยไมต้องไปศาล"นางพเยาว์ กล่าว