นายบี เตชะอุบล นักลงทุนรายใหญ่ เผยจับมือพันธมิตรที่เป็นกองทุนต่างประเทศเจรจาเข้าลงทุนในบริษัทจดทะเบียน คาดว่าภายในปีนี้จะสรุปดีลได้อย่างน้อย 3 ดีล รวมเงินลงทุนเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยดีลที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นการเข้าลงทุนในธุรกิจการเงินที่คาดว่าจะใช้เงินกว่า 8 พันล้านบาท ขณะที่มีความสนใจลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจใน 3 กลุ่มที่มีความถนัดคือ ธูรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม(มาร์เก็ตแคป)ตั้งแต่ระดับร้อยล้านบาทจนถึง 3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ พันธมิตรที่เป็นกองทุนต่างประเทศ เป็นกองทุน sovereign wealth fund จากประเทศในแถบตะวันออกกลาง เอเชีย รวมทั้งมาจากเงินลงทุนพรรคพวกของเขาที่เป็นนักลงทุนต่างประเทศ
"เวลาลงทุนไม่ใช่ดูภาวะเศรษฐกิจอย่างเดียว ผมดูว่าบริษัทจะโตได้ ไม่ว่าเศรษฐกิจเป็นยังไงก็ตาม ไม่ว่าเศรษฐกิจดีไม่ดี ...ตัวที่เราเข้าลงทุน เราต้องรู้ว่าเราจะปรับปรุงอย่างไร ขยายรายได้ หาลูกค้าเพิ่ม คือเราจะเข้าไปช่วยบริหารงาน" นายบี กล่าวในงานแถลงข่าว
นอกจากนี้ นายบี ระบุว่า กรณีที่ส่ำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวโทษเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจเป็นผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนได้นั้น ขณะนี้คดีได้ยุติแล้ว เมื่อ 15 ก.ย. 54 โดยอัยการสั่งไม่ฟ้อง และตนเองได้รับหนังสือแจ้งจาก ก.ล.ต.เมื่อ 29 ธ.ค. 54
นายบี กล่าวว่า แม้ขณะนี้ไม่ติดคดีแล้ว แต่ยังไม่คิดกลับมานั่งบริหาร บล.คันทรี่ กรุ๊ป (CGS)ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการในบลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ที่ CGS ถือหุ้นอยู่ 24.9% ในทันที โดยอาจจะพิจารณาจังหวะเหมาะสมในอนาคตต่อไปในการเป็นคณะกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน
"ยอมรับว่าเรื่องนี้ถือเป็นประสบการณ์ชีวิต จากบุคคลิกตรงไปตรงมาของผมเนื่องจากอยู่ในต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ ต่อไปจะทำอะไรต้องปรึกษาผู้ใหญ่ก่อน"นายบี กล่าว
เมื่อ 27 ส.ค. 54 ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษนายบี เตชะอุบล และนายวรเศรษฐ์ อุนยโกวิท ในฐานะอดีตผู้บริหารของบมจ. อินเตอร์เนชั่นเนิลเอนจีเนียริ่ง(IEC) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และระบุว่าบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษดำเนินคดีโดย ก.ล.ต.เพราะเหตุทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์เข้าข่ายเป็นบุคคลที่มีลักษณะขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น
ขณะเดียวกันกรณีบมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์(TTA)ที่นายบีระบุว่าถูกกล่าวอ้างว่าเขาจะเทกโอเวอร์ TTA นั้นไม่เป็นจริง เพราะไม่เคยมีแนวคิดซื้อกิจการหรือเข้าถือหุ้นใหญ่ใน TTA โดยปัจจุบันถือหุ้นเพียง 100 หุ้น ที่ผ่านมาตนเองก็ทำหน้าที่เพียงเข้ามาประสานงานให้กองทุนต่างประเทศพบกับผู้บริหาร แต่ขณะนี้เห็นว่า TTA มีกลุ่มมหากิจศิริเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว คาดว่าจะเห็นการปรับปรุงการบริหารงานให้ดีขึ้น