สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (27 กุมภาพันธ์ — 2 มีนาคม 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 359,390 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 71,878 ล้านบาท ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 4% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 80% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 290,537 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 59,829 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,415 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ รุ่น LB15DA (อายุ 3.8 ปี), LB155A (อายุ 3.3 ปี) และ LB27DA (อายุ 15.8 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 9,359 ล้านบาท 9,136 ล้านบาท และ 6,563 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12320A (อายุ 14 วัน), CB12313A (อายุ 14 วัน) และ CB12531B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 94,324 ล้านบาท 24,660 ล้านบาท และ 19,705 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI12NA (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 666 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTTC13OB (AAA(tha))) มูลค่าการซื้อขาย 368 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT12DA (AAA)) มูลค่าการซื้อขาย 360 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวอยู่ในกรอบแคบๆ หรือโดยเฉลี่ยแล้วเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในช่วง -6 ถึง 18 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรงในช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่อุปสงค์ (Demand) ในพันธบัตรระยะยาวมีน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับปริมาณอุปทาน (Supply) ของพันธบัตรระยะยาวที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการระดมทุนของรัฐบาล นอกจากนี้แล้วนักลงทุนในตลาดยังเริ่มคาดการณ์ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อในประเทศที่เริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทั้งหมดนี้มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกลับมาปรับตัวลดลงโดยเฉพาะในพันธบัตรอายุ 10 ปี โดยมีสาเหตุมาจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศที่มีเข้ามาในตราสารช่วงอายุดังกล่าวค่อนข้างมาก สำหรับเหตุการณ์ที่น่าสนใจในช่วงสัปดาห์หน้า คือการเปิดให้มีการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 6 เดือนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไม่ได้มีการเปิดประมูลตั๋วเงินคลังนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2554
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ 35,386 ล้านบาทในตลาดตราสารหนี้ โดยที่มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่ของนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงเน้นไปในตราสารระยะสั้น (มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) เป็นหลัก จึงไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดมากเท่าใดนัก และสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมียอดซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องประมาณ 325 ล้านบาท