ADVANC เปิดให้ปชช.ทดลอง 4G ครั้งแรกในกทม.คาดรายได้ non-voice โต 25%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 6, 2012 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริการเสริม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยว่า ในวันนี้ บริษัทเริ่มเปิดจุดทดสอบเทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution) หรือ 4G ในกรุงเทพ ไปจนถึงเดือน พ.ค. 55 ซึ่งจะทำให้บริษัทเก็บข้อมูลทั้งด้านต้นทุน อุปกรณ์ รวมถึงรู้ถึงข้อจำกัดการให้บริการ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมเมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้ใบอนุญาต 4G

"ขณะนี้เราพอได้ข้อมูลต้นทุน และประสิทธิภาพการใช้งาน ซึ่งเปิดทดสอบกับหน่วยงานราชการ แต่ในภาคประชาชนทั่วไป เราเปิดทดสอบครั้งแรก เพื่อจะได้ข้อมูลหลากหลาย จะได้เก็บ feedback การเปิดทดสอบเพื่อให้รู้ถึงข้อจำกัด ต้นทุน อุปกรณื เพื่อเวลาทำจริงจะได้รู้"นายปรัธนา กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากเปิดให้บริการ 4G จะต้องเลือกจุดที่ความต้องการที่ต้องการใช้ความเร็วสูง โดยจะเป็นการลงทุนต่อยอดจากระบบ 3G ดังนั้น จะต้องลงทุนระบบ 3G ทั่วประเทศ แล้วค่อยเลือกว่าจะลงทุนเป็น 4G พื้นที่ใดบ้างซึ่งงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ 4G ได้แก่ ด้านมัลติมีเดีย , การขยาย wifi ที่ให้ Router เป็น 4G และ การศึกษาทางไกล

นายปรัธนา กล่าวว่า บริษัทจะขอต่ออายุการทดสอบ 4G ออกไปอีกโดยได้ยื่นหนังสือต่อ กสทช.แล้ว โดยปกติจะต่ออายุครั้งละ 3 เดือน และปลายเดือน มี.ค.นี้จะขอกับทางบมจ.ทีโอที กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม

ทั้งนี้ เมื่อปลายม.ค. 55 กสทช.ได้อนุมัติให้ ทีโอที , กสท. , ADVANC และ บริษัท ดิจิตอลโฟน (บริษัทลูก) ทำการติดตั้งอุปกรณ์ดำเนินการทดสอบ เทคโนโลยี LTE หรือ 4G ใน 2 เทคโนโลยี และ 2 พื้นที่

ได้แก่ โครงการทดสอบและทดลองระบบบรอดแบรนด์ไร้สายความเร็วสูง ในย่านความถี่ 2300 MHz (20 MHz)ด้วยเทคโนโลยี LTE ซึ่งใช้เทคโนโลยีในลักษณะ Time Division Duplex (TDD) ในพื้นที่กรุงเทพ ทั้งในเขตพื้นที่ชั้นในบริเวณถนนพระราม 1 ตั้งแต่ มาบุญครองถึงเซ็นทรัลเวิล์ด รวมถึงชั้นนอกของศูนย์ราชการ ก.ไอซีที และสำนักงานทีโอที แจ้งวัฒนะ จำนวน 20 สถานีฐาน เปิดให้ทดสอบถึงช่วงกลางเดือน พ.ค. 55

และโครงการทดสอบและทดลองระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 4 ในย่านความถี่ 1800 MHz ด้วยเทคโนโลยี LTE ซึ่งใช้คลื่นความถี่ลักษณะ Frequency Division Duplex (FDD) ในพื้นที่จ.มหาสารคาม ในเขตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม เบื้องต้นมีจำนวนสถานีฐานะ 8 แห่ง เปิดให้ทดสอบแล้วถึงต้นเดือน มี.ค. 55

นายปรัธนา คาดว่าในปี 55 รายได้จากธุรกิจ Non-voice จะเติบโต 25% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2 หมื่นล้านบาท มาเป็น 2.2-2.3 หมื่นล้านบาท โดยปีที่แล้วรายได้เติบโต 37% ที่เติบโตจากกลุ่ม DATA และ GPRS รองลงมามาจาก SMS

ขณะเดียวกันคาดว่าในปีนี้ภารพรวมตลาดสมาร์ทโฟน จะเพิ่มอีก 5 ล้านเครื่องจากปีก่อน 8 ล้านเครื่องเป็น 13 ล้านเครื่อง ที่จะช่วยผลักดันการใช้งานด้านข้อมูลสูงขึ้น โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ แบล็กเบอร์รี่ , ไอโฟน และ เครื่องที่มีปฏิบัติการเอนดรอย เช่น ซัมซุง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ