ทริส จัดอันดับหุ้นกู้ใหม่,คงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้เดิม IVL ที่ A+/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 13, 2012 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของบมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ที่ระดับ“A+"พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัท ที่ระดับ“A+"ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง“Stable"หรือ“คงที่"

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้ ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ตลอดจนใช้ในการซื้อกิจการและขยายธุรกิจ

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้ผลิตในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ชั้นนำระดับโลก ตลอดจนความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและการมีฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพและแน่นอน จากการมีระบบการผลิตที่ครบวงจร (Vertical Integration) รวมถึงการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวทั่วโลก ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร รวมทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญของอุตสาหกรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากลักษณะที่ผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตของบริษัท และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนจากประโยชน์ที่ได้รับจาก Vertical Integration นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะรักษาความแข็งแรงทางการเงินและสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอเอาไว้ให้ได้เพื่อจะช่วยบรรเทาความผันผวนที่เกิดจากธุรกิจปิโตรเคมี

ทริสเรทติ้งรายงานว่า IVL ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 โดยกลุ่มตระกูลโลเฮีย (Lohia) ภายใต้ชื่อเดิมคือ บริษัท บีคอน โกลโบล จำกัด ในฐานะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ส่งผลให้ในปัจจุบันกลุ่มตระกูลโลเฮียมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลดลงจาก 92.9% เหลือ 68.7%

IVL มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทยที่กรุงเทพฯ โดยลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย การผลิตกรดเทอเรฟธาลลิกบริสุทธิ์ (Purified Terephthalic Acid - PTA) และโพลีเอธิลีน เทอเรฟธาลเลท (Polyethylene Terephthalate - PET) รวมทั้งผลิตเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 6.95 ล้านตันต่อปี (รวมกำลังการผลิตในกิจการร่วมทุน) ซึ่งประกอบด้วย กำลังการผลิต PTA ขนาด 2.45 ล้านตันต่อปี PET ขนาด 3.58 ล้านตันต่อปี เส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์รวมกันที่ 0.60 ล้านตันต่อปีเส้นใย Bi/Mono-Component 0.23 ล้านตันต่อปี และโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 0.08 ล้านตันต่อปี โดย PTA เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต PET และเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์

ส่วน PET ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ในครัวเรือน เวชภัณฑ์ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในขณะที่เส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์นั้นใช้ในอุตสาหกรรมปลายน้ำหลายประเภท ได้แก่ เครื่องแต่งกาย สิ่งทอที่ใช้ภายในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์เส้นใยที่ไม่ทอ สิ่งทอชนิดพิเศษ และอุตสาหกรรมยานยนต์ PET และเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สามารถใช้ทดแทนวัสดุอื่นได้ โดย PET ใช้ทดแทนแก้วและอะลูมิเนียมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่เส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ใช้ทดแทนเส้นด้ายและเส้นใยที่ทำจากฝ้าย วัสดุทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นที่นิยมเพราะมีคุณสมบัติที่โดดเด่น อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และมีราคาถูก ซึ่งจะช่วยพยุงอุปสงค์ของ PET และเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจขาลง

IVL เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์เมื่อปี 2538 โดยเริ่มการผลิต PET ที่จังหวัดลพบุรี (ประเทศไทย) ภายใต้ชื่อ บริษัท อินโดรามา โพลีเมอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ระดับสากล ระหว่างปี 2549-2553 บริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าจากการควบรวมกิจการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการซื้อกิจการที่ดำเนินการผลิตแล้ว และการพัฒนาโครงการผลิต PET ใหม่โดยบริษัทเอง

โครงการที่บริษัทพัฒนาเองที่ประสบความสำเร็จประกอบด้วยโครงการ Orion Global ในประเทศลิธัวเนียในปี 2549 และโครงการ Alphapet ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 สำหรับปี 2554 สินทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2553 เนื่องจากบริษัทได้ซื้อกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก โปแลนด์ จีน อินโดนีเซีย และเยอรมนี โดยใช้งบประมาณในการซื้อกิจการรวมทั้งสิ้นประมาณ 24,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิต PET รายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจะติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทหลังการควบรวมกิจการต่อไป

ปัจจุบัน IVL มีฐานการผลิตกระจายอยู่ใน 15 ประเทศ ครอบคลุม 3 ทวีป (เอเซีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ) นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการผลิต PET ในประเทศไนจีเรีย ทวีปอาฟริกา ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาด้วย ความสำเร็จในการขยายธุรกิจของบริษัทส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการซื้อกิจการที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างโดยซื้อได้ในราคาต่ำ รวมทั้งความมุ่งมั่นของผู้บริหารที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่สำคัญ ๆ

นอกจากนี้ การที่บริษัทมีฐานการผลิตกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคที่สำคัญยังช่วยให้บริษัทเข้าถึงฐานลูกค้าได้ทั่วโลก ส่งผลให้บริษัทสามารถคงอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ในระดับสูง การควบคุมปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นผลมาจากการมีแหล่งวัตถุดิบเป็นของตนเองจากการมีระบบการผลิตที่ครบวงจร (Vertical Integration) และการมีโรงงานที่ใช้พื้นที่ร่วมกับผู้ผลิตวัตถุดิบรายสำคัญ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถเสนอราคาที่แข่งขันได้เนื่องจากมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการกีดกันทางการค้าในตลาดที่สำคัญ เช่น อเมริกาเหนือ และยุโรป อีกทั้งการที่บริษัทลงทุนการผลิตทั้ง PTA และผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์นั้นจะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มอัตราการทำกำไรให้สูงขึ้นและมีเสถียรภาพยิ่งขึ้นด้วย

เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของ IVL จัดอยู่ในประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี กำลังการผลิตใหม่และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกอาจมีผลกระทบต่ออุปสงค์ ราคา และกำไร อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจของบริษัททั้งในการผลิต PTA และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง น่าจะช่วยบรรเทาความผันผวนดังกล่าวลงได้ นอกจาก Vertical Integration จะช่วยให้บริษัทมีวัตถุดิบที่แน่นอนสำหรับการผลิต PET ตลอดจนเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์แล้ว ยังช่วยลดค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตคงที่จากการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ร่วมกันด้วย

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ฐานะทางการเงินของ IVL ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 63.1% จาก 96,858 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 186,096 ล้านบาทในปี 2554 รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้นและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2554 เป็นส่วนใหญ่ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ลดลงจาก 12.8% ในปี 2553 เหลือ 8.2% ในปี 2554 เนื่องจากราคาขายที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการทำกำไรของบริษัทในรูปของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อตันของยอดขายลดลงเล็กน้อยจาก 136 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2553 เหลือ 128 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2554

นอกจากนี้ ส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ PTA ก็ปรับตัวลดลงอย่างมากซึ่งสะท้อนถึงภาวะอุปทานส่วนเกินในภูมิภาคเอเซีย ประกอบกับการปิดโรงงานของบริษัทในอเมริกาเหนือจากภัยพิบัติทอร์นาโดและในประเทศไทยจากวิกฤติอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ในปี 2554 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 14,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 11.3 เท่าในปี 2553 เป็น 7.6 เท่าในปี 2554 ซึ่งสะท้อนถึงดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสภาพคล่องที่ดี โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้น 17,706 ล้านบาท และมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ของบริษัทย่อยอีกประมาณ 15,800 ล้านบาท ซึ่งใช้สำหรับสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

การลงทุนในปี 2554 ส่งผลทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์สอ่อนแอลง โดยเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 32,068 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 61,346 ล้านบาทในปี 2554 ซึ่งรวมถึงเงินกู้เพื่อการลงทุนและเงินกู้ของบริษัทที่มีการควบรวมกิจการเข้ามาและเงินกู้สำหรับหมุนเวียนในกิจการ

อย่างไรก็ตาม ฐานเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจากการใช้สิทธิตามใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ในมูลค่าสุทธิ 17,224 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2554 ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 49.9% ณ สิ้นปี 2553 เป็น 51.1% ณ สิ้นปี 2554 บริษัทยังคงดำเนินตามแผนการลงทุนในช่วงปี 2555-2557 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตโดยรวมให้ถึง 10 ล้านตันต่อปี

ในเดือนมกราคม 2555 บริษัทได้ซื้อหุ้น 100% ใน FiberVisions Holding LLC มูลค่าทั้งสิ้น 181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,693 ล้านบาท) ล่าสุดบริษัทยังได้ซื้อกิจการ 100% ใน Old World Chemical(OWC)และ PT Polypet Karyapersada มูลค่าประมาณ 815 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25,265 ล้านบาท)ด้วย โดยตามแผนการซื้อกิจการของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวจะใช้เงินกู้ประมาณ 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% จะใช้เงินจากการดำเนินงานของบริษัท เมื่อพิจารณารวมถึงการลงทุนตามแผนแล้ว ในระยะสั้นถึงปานกลางคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับไม่เกิน 60%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ