CIMBT รุกหนักตลาดสินเชื่อรายย่อย-SME ใน 2 ปี พร้อมเปิดบัตรเครดิตปลายปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 15, 2012 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT)กล่าวว่า ธนาคารรุกสินเชื่อรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วง 2 ปีข้างหน้าจะขยับสัดส่วนแต่ละธุรกิจเพิ่มเป็น 35-40%ของพอร์ต ขณะที่สินเชื่อองค์กรจะปรับสัดส่วนลดลงมาที่ 20% จากปัจจุบันทีมีสัดส่วน 30%

ทั้งนี้ ในปี 55 ธนาคารยังคงเป้าหมายขยายสินเชื่อ 20-30% แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกนี้ จะเติบโตเพียง 2-3% ที่ลูกค้ารายใหญ่คืนหนี้เข้ามา แต่เชื่อว่าความต้องการสินเชื่อเพื่อไปฟื้นฟูกิจการหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม

ขณะเดียวกัน ธนาคารจะรุกออกผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งจะรุกธุรกิจบัตรเครดิตในปลายปีนี้ โดยขณะนี้ได้เตรียมทีมงานรองรับไว้แล้ว จากเดิมไม่มีธุรกิจนี้เพราระได้ซื้อกิจการจากธนาคารไทยธนาคาร และเชื่อว่าจะมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างเกี่ยวกับรายย่อยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีกำหนดปรับปรุงระบบไอทีตามนโยบายของกลุ่มซีไอเอ็มบี โดยเริ่มจากไทย จากนั้นไปปรับปรุงที่มาเลเซีย และอินโดนีเซียจะปรับปรุงเป็นแห่งสุดท้ายในปี 58 โดยใช้วงเงินในการปรับปรุงระบบครั้งนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 17-18 มี.ค.นี้ CIMB Thai จะปิดสาขา บูธแลกเปลี่ยน เอทีเอ็ม และเครื่องฝากเงินสดทั่วประเทศ รวมถึงอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้งและโฟนแบงค์กิ้งเป็นการชั่วคราว เพื่อพัฒนาระบบ Core Banking ใหม่ เป็นรากฐานสู่มาตรฐานเดียวกันของเครือข่ายกลุ่มซีไอเอ็มบีทั่วภูมิภาคอาเซียน และจะเปิดให้บริการปกติวันที่ 19 มี.ค. 55

นอกจากนี้ ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือ บล.ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย)ที่ขายให้ CIMB Securities International Pte Ltd.(CIMBSI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นเต็มจำนวนโดย CIMB Group Sdn Bhd (CIMB Group) จะช่วยลดภาระของธนาคาร โดยธนาคารแยกธุรกิจวาณิชธนกิจมาไว้ที่ CIMBT ที่ทำรายได้ให้ธนาคารปีละประมาณ 100-200 ล้านบาท โดยปีนี้มีดีล IPO ที่สำคัญคือ การนำหุ้นแอร์เอเชียเข้าตลาดหลักทรัพย์

ส่วนธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ไปร่วมกับ บล.ซิกโก้ ซึ่งคาดว่ากระบวนการรวมกิจการจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/55 โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีส่วนแบ่งตลาดที่ประมาณ 1.2%

นายสุภัค ยังกล่าวปฏิเสธ กรณีที่มีกระแสข่าวว่า กลุ่ม CIMBT มาแลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ไม่ได้เจรจาซื้อกิจการ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กับธนาคารกรุงไทย(KTB) รวมทั้ง ปฏิเสธที่มีข่าวว่าสนใจเข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) ด้วย

ขณะที่ความคืบหน้าการนำหุ้นของ CIMB มาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น ยังไม่ได้ยกเลิกแผน แต่อยู่ระหว่างรอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของทางการไทย โดยเฉพาะประเด็นการเก็บภาษีกรณีที่มีการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ CIMB ต้องการเป็นหุ้นภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันอยู่ที่ตลาดหุ้นมาเลเซีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ