บมจ.การบินไทย(THAI)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันนี้มีมติเห็นชอบให้บริษัทจัดหาวงเงินระยะยาวด้วยวิธีออกตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ภายในประเทศ วงเงินไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท อายุ 12 ปี โดยดำเนินการออกและเสนอขายในวงจำกัด เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ลงทุนในสินทรัพย์ หรือ ชำระคืนเงินกู้เดิมที่มีต้นทุนการเงินสูงกว่า แต่งตั้ง ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นที่ปรึกษาและผู้จัดการการจัดจำหน่าย ทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดนี้เป็นหุ้นกู้ที่มีอายุยาวที่สุดที่บริษัทเคยออกมา
นายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการ THAI เปิดเผยว่า วันนี้คณะกรรมการบริษัทยังไม่พิจารณาการจัดหาเครื่องบิน ระยะที่ 2 (ปี 61-65)จำนวน 38 ลำทั้งการจัดซื้อและเช่าระยะยาว เนื่องจากต้องการให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงกลับไปพิจารณาความเสี่ยงทางการเงิน หลังจากในปีที่ผ่านมาบริษัทประสบผลขาดทุนถึง 1.02 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงการแข่งขันธุรกิจการบินรุนแรงทั้งจากสายการบินตะวันออกกลาง และ สายการบินต้นทุนต่ำ(low cost) รวมถึงภัยธรรมชาติที่กระทบต่อธุรกิจการบินอีกด้วย
"วันนี้เสนอขึ้นมา แต่ยังมีปัญหา มีความเสี่ยงทางการเงิน เพราะปีที่แล้ว(ผลการดำเนินงาน)ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ต้องกลับไปพิจารณาความเสี่ยงให้สอดคล้องกับมติครม. ...เราต้องรอบคอบ ต้องระมัดระวัง เพราะเรามีความเสี่ยงทางการเงิน"นายอำพน กล่าว
ประธานกรรมการ THAI กล่าวว่า การพิจารณาล่าช้าไปไม่ได้กระทบแผนงานของบริษัท เพราะบริษัทยังมีเครื่องบินที่รอรับมอบไปจนถึงปี 59 จากการจ้ดหาเครื่องบินระยะที่ 1(ปี 54-60)จำนวน 37 ลำ รวมทั้งเครื่องบินที่ปรับปรุงที่นั่งภายใน ทั้งหมดกว่า 50 ลำ
"ผมยอมรับความเสี่ยงปีที่แล้ว จะว่าเกินคาดก็ได้ แต่ผมไม่ท้อ ต้องแก้ปัญหาไป..ไม่ใช่แค่การหาเครื่องบิน แต่ต้องดูยุทธศาสตร์ของบริษัท"นายอำพน กล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทรับทราบผลการดำเนินงานด้านการขนส่งในเดือน ก.พ.55 ที่ปรับตัวสูงกว่าเดือน ม.ค. 55 โดยมีจำนวนผู้โดยสาร 1.65 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.2% จากเดือนก.พ.54 และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger-Kilometer/ RPK) เพิ่มขึ้น 5.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน
ในขณะเดียวกัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Available Seat-Kilometer/ASK)สูงขึ้นกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 3.6% และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 77.6% โดยเฉพาะในเส้นทางสำคัญ ได้แก่ เส้นทางยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 82.9% เป็น 88.2% เส้นทางออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นจาก 66.8% เป็น 72.6% รวมทั้งเส้นทางภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 77.2% เป็น 82.9%
สำหรับด้านการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ในเดือน ก.พ. 55 มีปริมาณการผลิตพัสดุภัณฑ์สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 4.2% ปริมาณการขนส่งสินค้าสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.6% โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor)เฉลี่ย 54.7% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 3.5% เป็นผลต่อเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปและการคืนเครื่องบินขนส่งสินค้า จำนวน 1 ลำ เมื่อ ส.ค.54 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนม.ค. 55 อัตราส่วนการบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 10.1%