บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP)เปิดแผนเส้นทางสู่เป้าหมายการผลิต 9 แสนบาร์เรล/วันในปี 63 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า ด้วยการพัฒนาโครงการในปัจจุบันให้มีกำลังผลิตเพิ่มและการเข้าซื้อกิจการใหม่(M&A)พร้อมวางแผนการเงินควบคู่กัน ขณะที่วันนี้กำเงินสดในมือแล้ว 3 หมื่นล้านบาท ระบุแม้หากมีการลงทุนขนาดใหญ่ถึงขั้นต้องเพิ่มทุนก็เชื่อว่าผลตอบแทนที่ได้กลับมายังผู้ถือหุ้นต้องดีแน่นอน
นายอนนค์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTEP เปิดเผยว่า การวางเป้าหมายสู่การผลิตที่ระดับ 9 แสนบาร์เรล/วันในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อปูทางบริษัทไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและอย่างมีคุณภาพ จากปริมาณการผลิตในปีนี้ที่ระดับ 3 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่อีก 3 แสนบาร์เรล/วันจะมาจากเข้าไปพัฒนาโครงการที่ได้เข้าไปลงทุนแล้ว ได้แก่ ในพม่า ออสเตรเลีย และแคนาดา เป็นต้น ส่วนอีก 1 ใน 3 ที่เหลือจะมาจากการเข้าซื้อกิจการโดยตรงหรือจับมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มแหล่งผลิต
"ประเด็นนี้เวลาคนเอาไปพูดถึง 9 แสนบาร์เรล/วัน ก็เหมือนกับมองว่าเราเองจะต้องดันทุรังไปที่ 9 แสนฯให้ได้ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ ถ้ามองจากการทำงานก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรในการเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ เราวางเป้าหมาย 9 แสนก็เป็นตัวเลขที่ต้องขวนขวายดิ้นรน ถ้าตั้ง 5 แสนบาร์เรล/วัน ก็กอดอกสบาย"นายอนนต์ กล่าว
บริษัทตั้งงบลงทุนตามแผน 5 ปี(55-59)ประมาณ 6 แสนล้านบาท ได้แบ่งเงินลงทุน 50% หรือประมาณ 3 แสนล้านบาทใช้ในการพัฒนาโครงการใหม่ที่บริษัทเข้าไปลงทุน ได้แก่ ในอ่าวไทย ออสเตรเลีย พม่า อัลจีเรีย แคนาดา ส่วนอีก 35% ใช้ลงทุนในโครงการปัจจุบันเพื่อเพิ่มผลผลิตและรักษาระดับการผลิต โดยในช่วง 5 ปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มผลผลิตได้ 25% เป็นประมาณ 4 แสนบาร์เรล/วันภายในปี 59 และอีก 15% ใช้ในการสำรวจโครงการใหม่อีกมากเพื่อจะเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซกับน้ำมันให้เร็วขึ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เผยว่า บริษัทมีแผนเพิ่มการผลิตจากปัจจุบันที่มีอยู่โดยจะใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมในปัจจุบัน ได้แก่ แหล่งสิริกิติต์ แหล่งก๊าซเล็กๆในอ่าวไทย เพื่อจะเพิ่มการผลิตจากที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน 3 แสนบาร์เรล/วัน จะยืดออกไปมากกว่า 10 ปี ถ้ามองไปยาวถึงปี 63 นี่คือฐานแรกที่จะได้เพิ่มเป็น 1 ใน 3 ของ 9 แสนบาร์เรล/วัน
ฐานที่สอง มีแหล่งสำรวจใหม่ที่บริษัทได้เข้าลงทุนแล้ว ได้แก่ ในพม่า อัลจีเรีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา และสุดท้ายอีก 1 ใน 3 เป็นการเข้าซื้อกิจการ(M&A) ดูว่าถ้าจะเข้าไปซื้อบ่อน้ำมัน บ่อก๊าซใหม่ๆ ต้องทำงานควบคู่กับการหาแหล่งสำรวจใหม่ด้วย
"งบลงทุน 5 ปีจำนวน 6 แสนล้านบาท เป็นแผนลงทุนที่มีโครงการชัดเจน ยังไม่รวมโครงการที่เราจ้องเข้าไปซื้อใหม่ ทั้งบ่อน้ำมัน และบ่อก๊าซใหม่"นายอนนต์ กล่าว
*คาดเฟ้นหาโครงการใหม่ตามแผน 5 ปีได้ 1-2 ดีล
นายอนนต์ กล่าวว่า บริษัทได้เริ่มสร้างกระบวนการที่จะเข้าซื้อกิจการใหม่ (M&A)โดยต้องทำการศึกษาว่าทั่วโลกมีแหล่งปิโตรเลียมมที่น่าสนใจและตรงกับพื้นที่เป้าหมายของบริษัท โดยแต่ละครั้งหรือแต่ละปีจะมีการศึกษาและนำเสนอให้คณะผู้บริหารราว 40 โครงการ เพื่อพิจารณาคัดเลือกเหลือ 1-2 ดีล ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และปีนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุป 1-2 ดีล และในช่วง 5 ปีนี้น่าจะมีข้อสรุปซื้อกิจการอีก 1-2 ดีล
"คาดว่าในช่วง 5 ปีนี้ คงจะได้ 1-2 โครงการ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่ทู่ซี้จะเอาให้ได้ เราก็มี limit เพราะถ้าประมูลราคาแพงมากก็ไม่ได้ อีกอย่างเราต้องรู้จักใช้ความได้เปรียบ อย่างบางดีลเรามีอำนาจต่อรองสูง หรือได้เปรียบเพราะเกี่ยวพันในเรื่อง ตลาดก๊าซในประเทศไทย ตลาด LNG ที่ปตท.เป็นผู้ดำเนินการอยู่ เราก็ใช้ข้อได้เปรียบนั้น" นายอนนต์ กล่าว
นอกจากการเข้าซื้อกิจการโดยตรงเองแล้ว บริษัทยังจะใช้วิธีจับมือกับพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะแหล่งในพื้นที่ใหม่หรือไม่คุ้นเคย ขณะเดียวกันพันธมิตรก็เห็นประโยชน์ในการร่วมมือกับบริษัท
"ความพร้อมขององค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่ากำเงินแล้วออกไปซื้อ อย่าเพียงแต่สู้ราคา ได้อะไรมาด้วยราคาเท่าไรจ่ายหมด ซึ่งไม่ใช่วิธีการของ ปตท.สผ. เพราะฉะนั้น จะเร็วจะช้าอยู่ที่ความพร้อมมีเกณฑ์การลงทุนค่อนข้างชัดเจน มีวินัยในการลงทุนค่อนข้างจะเข้มงวด และโครงการที่จะเข้าไปทำมีความยั่งยืนหรือไม่"
"ถึงเวลาเราไป จะมองว่า ยั่งยืนหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นเราจะมีโครงการทั่วโลกเสร็จแล้วก็ทำไม่ไหว สองไปแล้วก็หยุดอยู่กับที่ในหลายที่ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลา คือเราไปแล้วต้องมองว่าต้องยั่งยืนจริงๆ และให้ผลตอบแทนที่ยอมรับได้ ไม่ใช่ซื้อโครงการมาไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอันนั้นเราไม่ทำอยู่แล้ว"นายอนนต์ กล่าว
หากในช่วง 5 ปีนี้ไม่สามารถสรุปดีลซื้อกิจการใหม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะจังหวะโอกาสการเข้าซื้อกิจการหรือเข้าลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ หากราคาน้ำมันแพงแล้วเข้าไปซื้อกิจการก็อาจจะได้ของแพง ทั้งนี้ การดำเนินการของบริษัทจะไม่รวบรัดเร่งรัด เพราะต้องมีหลักเกณฑ์คุมอยู่ ทั้งเรื่องวินัยการลงทุน ผลตอบแทนที่ยอมรับได้ และความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีโอกาสในช่วง 10 ปี พร้อมมองแผนการเงินควบคู่กันไป ซึ่งแผนการเงินต้องพร้อมตลอดเวลาแต่หากจำเป็นต้องเพิ่มทุน ต้องพิจารณาว่าคุ้มค่ากับโครงการที่ได้มาหรือไม่ ทั้งนี้ การขยายงานการลงทุนใหม่ต้องมีผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นสูงขึ้น ไม่ใช่ลงทุนแล้วทำให้ผลตอบแทนลดลง ถ้าเป็นอย่างนั้นเราไม่ทำ "วันนี้ บริษัทมีเงินสดในมือมีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มีสภาพคล่องและยังได้เตรียมแนวทางการเงินควบคู่กันไป เพราะฉะนั้น นักลงทุนอย่าเพิ่งวิตก เพราะบริษัทมีหลายทางเลือกและจะนำแนวทางไหนออกมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไม่เป็นการก่อหนี้เกินตัว ไม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ไม่ไปทำให้มูลค่าหุ้นลดลง จากโครงการที่ไม่ก่อให้มูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราไม่ทำอยู่แล้ว"นายอนนต์ กล่าว
*ปรับพอร์ตลงทุนตลอด ลดความเสี่ยง
นายอนนต์ กล่าววอีกว่า โครงการสำรวจที่มีอยู่ในปัจจุบันที่มีอยู่ในมือ 20 กว่าโครงการ ได้มีการทบทวนหรือปรับพอร์ตลงทุนตลอดเวลาเพื่อให้เหมาะสม โดยมีการจัดการโครงการที่มีมากเกินไปหรือมีความเสี่ยงสูง ทั้งในนิวซีแลนด์ อินโดนีเซียที่ลดสัดส่วนไปแล้ว และโครงการน้ำลึกในแหล่ง M11 ที่พม่า
"หลายโครงการที่โตไม่ได้ และในตระกร้าตัวไหนหนักไปก็ขาย ก็ทำให้พอร์ตลงทุนไม่ให้เสี่ยงเกินไป ต้องบริหารพอร์ตตลอดหรือปรับปรุงตลอดเวลา"นายอนนต์ กล่าว
ทั้งนี้ จะเห็นว่าการจัดการโครงการสำรวจเหล่านี้ได้ทำหลายอย่าง ทั้งหาโครงการใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งจะมีทั้งพื้นที่ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น ในไทย พม่า ออสเตรเลีย แคนาดา และมองหาพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพสูงๆ เช่น แอฟริกาตะวันออก และ อเมริกาใต้
นอกจากนี้ ใช้ประโยชน์ของการเป็นหนึ่งในกลุ่มปตท.และตลาดก๊าซที่มีทิศทางเติบโต มาก รวมทั้งประสบการณ์องค์ความรู้เกี่ยวกับก๊าซและปิโตรเลียมที่มีมากกว่า 30 ปี เหล่านี้ถือเป็นความได้เปรียบให้กับ PTTEP ในการเข้าไปหาแหล่งใหม่ๆ และหากมีการขยายการลงทุนขนาดใหญ่ ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีการเพิ่มทุน
*ต่อยอดด้วยโครงการ FLNG
นายอนนต์ กล่าวว่า โครงการโรงผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ(FLNG) ขณะนี้ใกล้ได้ข้อสรุปเรื่องเทคนิคว่าจะใช้เทคโนโลยีแบบใด และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งบริษัทเริ่มมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องขอบเขตทางเทคนิค ต่อไปก็ไปดูเรื่องการลงทุน ศึกษาความคุ้มทุน ประเด็นความเสี่ยง ปัจจัยภายนอก การขออนุญาต การก่อสร้าง วิธีการ ซึ่งต้องมีการศึกษาทุกเรื่องจนเข้าใจว่ามีความเหมาะสมทั้งทางเทคนิค ทางการเงิน ทั้งเรื่องประเด็นของความเสี่ยงการลงทุน
จากกนั้นจะศึกษาด้านวิศวกรรม คาดว่าใช้เวลาประมาณ 9 เดือน หรือในช่วงปีหน้า ซึ่งจะมีการถอดแบบวิศวกรรมและตีราคา จึงจะรู้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนอย่างที่คาดไว้แต่แรกหรือไม่ รวมถึงปัจจัยเสี่ยง หากควบคุมได้ก็คงตัดสินใจเดินหน้า เพราะฉะนั้นคาดว่าประเด็นทั้งหมดจะได้ข้อสรุปในปีหน้า Final Investment Decision โครงการนี้คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ อย่างน้อย 4-5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ งบลงทุนโครงการ FLNG ในออสเตรเลียอยู่นอกเหนือแผน 5 ปี โดยโครงการนี้ PTTEP ร่วมทุนกับ PTT ฝ่ายละ 50% และอาจจะมีพันธมิตรที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเข้าร่วมทุนด้วย