นายพันธ์เทพ จำรัสโรมรัน ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทีโอที (TOT) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการว่า ในการเปิดใช้งานสถานีฐาน 3G ทีโอทีระยะแรกจำนวน 5,320 สถานีฐาน ตามเป้าหมายที่จะต้องติดตั้งและเปิดใช้ให้ครบภายใน พ.ค.55 นั้น จะมีสถานีฐานประมาณ 400 กว่าแห่งที่ยังติดตั้งไม่เสร็จตามกำหนด เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมมื่อปลายปีก่อน อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังอยู่ในกรอบที่มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขยายเวลาให้ 6 เดือน
สำหรับการดำเนินการในเฟส 2 ซึ่งจะเป็นการใช้โครงข่ายร่วมระหว่าง 3G กับ 4G (LTE) จำนวน 15,000 สถานีฐานนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการเพื่อของบประมาณไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ใน พ.ค. เพื่อให้สามารถเปิดบริการ 3G ควบคู่ไปกับการให้บริการ 4G ในความเร็ว 100 เมกะบิต/วินาที โดยการดำเนินการการให้บริการ 4G จะใช้งบประมาณเดิมของ 3G ที่เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท จาก 2.9 หมื่นล้านบาท
"เฟส 2 นี้ จะเริ่มดำเนินการก่อนที่จะเปิด 3G ทั่วประเทศ ซึ่ง 4G ถือเป็นการก้าวกระโดด ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะแข่งกับใคร แต่เราทำเพื่อวางโครงสร้างให้ผู้อื่นมาเช่า พื้นฐานเดิมคือการมีจุดยุทธศาสตร์ที่ดี การที่เรามีฐานที่ดีได้เปรียบ ถือว่าแข็งแรง"ประธานบอร์ด ทีโอที กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคลื่นความถี่ที่จะให้บริการ 4G นั้น ทีโอทีจะร่วมหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอใบอนุญาตใหม่ โดยทีโอทีจะเสนอคืนคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 34 เมกะเฮิร์ตซ จากเดิมที่ถือครองอยู่ทั้งหมด 64 เมกะเฮิร์ตซ โดยจะขอใช้คลื่นในช่วง 2300-2330 เมกะเฮิร์ตซ เพื่อนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว โดยการออกแบบนี้จะหารือกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ด้วย เพราะโครงข่ายนี้ทีโอทีต้องการจะเปิดให้เอกชนเข้ามาแชร์ใช้ร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนของประเทศ โดยทีโอทีจะพยายามขอหารือกับ กสทช. เพื่อให้ได้สิทธิใช้คลื่นนี้เป็นเวลา 15 ปี
"ความจริงแล้วระยะสัญญามันควรไม่ลดลงต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเราก็อยู่ในขั้นตอนที่ต้องเจรจากับ กสทช. เพราะหากสัญญาต่ำกว่า 15 ปี จะไม่คุ้มค่า เพราะเราเป็นองค์กรของรัฐ ต้องลงทุนเยอะและให้เอกชนเช่า ซึ่งจะช่วยประหยัดในเรื่องของการลงทุน ทีโอทีจะใช้วิธีการโคไซต์ ทีโอทีจะไม่มองว่าเอกชนครือคู่แข่ง เขาคือพาร์ทเนอร์ของทีโอที" นายพันธ์เทพ กล่าว