นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) คาดว่า อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor)ในเดือน มี.ค.55 จะดีกว่า มี.ค.54 ที่อยู่ระดับ 72.9% แต่จะต่ำกว่าในเดือน ก.พ. 55 ที่อยู่ระดับ 79% ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 1-15 มี.ค. 55 บริษัทมี Cabin Factor ที่ระดับ 77%
โดยในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ บริษัทไม่มีแผนปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) เหมือนคู่แข่งอื่น เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ เนื่องจากบริษัทสามารถควบคุมราคาน้ำมันจาการทำสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในปี 55 บริษัทตั้งเป้าจะพลิกกลับมามีกำไร โดยผลประกอบการในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.)ยังเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องพิจารณาความเสี่ยงปัจจัยราคาน้ำมัน ซึ่งในปีนี้ราคาน้ำมันอากาศยานได้ปรับขึ้นมาทำสถิติใหม่เฉลี่ยที่ 130 เหรียญ/บาร์เรล จากปีก่อนที่ราคาเฉลี่ย 125.6 เหรียญ/บาร์เรล ประกอบกับ การแข่งขันในธุรกิจการบินยังน่าเป็นห่วง ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับขึ้นราคาตั๋วโดยสารได้
"ราคาน้ำมันยังน่าเป็นห่วง ถ้าราคาน้ำมันสูงมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนถึง 40% ปีนี้เราดูแลต้นุทนน้ำมันได้ดีกว่าปีที่แล้ว เป็ระดับที่มีความสบายใจได้" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ไทยสมายล์ ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของการบินไทยจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือน ก.ค.นี้ จะช่วยหนุนรายได้ให้กับการบินไทยอีกทางหนึ่ง
นายปิยสวัสดิ์ คาดว่าในปีหน้า บริษัทจะมีค่าใข้จ่ายคาร์บอนเครดิต ประมาณ 200-300 ล้านบาท จากเที่ยวบินไปเส้นทางยุโรป ซึ่งบริษัทจะลดเทียวบินไปยุโรปและไม่เพิ่มที่นั่งเส้นทางไปยุโรปด้วย
อย่างไรก็ตาม ได้ทราบว่าทางการไทยได้ยื่นหนังสือค้ดค้านไปที่สหภาพยุโรป(อียู) ในการจัดเก็บคาร์บอนเครดิตไปแล้ว และเห็นว่ามีหลายประเทศก็คัดค้านเช๋นกัน ได้แก่ จีน สหรัฐ และอินเดีย ซึ่งมองว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ เห็นว่าวิธีการเก็บภาษีคาร์บอนเครดิตไม่ถูกต้อง และการคิดตั้งแต่ต้นทางคือกรุงเทพ ซึ่งเป็นเขตแดนนอกเหนืออียู แม้ว่าจะเห็นด้วยในหลักการที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แต่อียูควรหารือกับหน่วยงานระหว่างประเทศเช่น สหประชาชาติ (UN) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นต้นเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก