ตลท.ปรับเกณฑ์รับหลักทรัพย์ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เข้า mai เร็วขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 22, 2012 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์รับหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการระดมทุนให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้เร็วขึ้น

โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เริ่มขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ครบ 1 ปี และมีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ในการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ โดยหลักเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2555

ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนการระดมทุนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนสามารถพัฒนาโครงการต่อเนื่องได้โดยลดข้อจำกัดด้านเงินลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2553 — 2573 ของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ระบุให้ภายในปี 2573 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะต้องไม่ต่ำกว่า 5% ของกำลังการผลิตรวม อีกทั้งการปรับปรุงหลักเกณฑ์นี้ได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงเชื่อว่าจะเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการและสภาพธุรกิจของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนว

สำหรับ โรงไฟฟ้าที่เป็นไปตามเงื่อนไขของหลักเกณฑ์ใหม่ คือ โรงไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวภาพ ชีวมวล เป็นต้น โดยมีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีสัญญาขายไฟฟ้า ที่ก่อให้เกิดรายได้มั่นคงในอนาคต และมีการดำเนินงานไม่น้อยกว่า 1 ปีนับแต่เริ่มต้นขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งนี้ ได้กำหนดระยะเวลาการห้ามขายหุ้นของผู้บริหารฯ (Silent Period) ให้ยาวขึ้นจากเกณฑ์ปกติ 1 ปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และมุ่งเน้นให้ผู้ยื่นคำขอต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับสัญญาขายไฟฟ้า เงินอุดหนุนภาครัฐ (Adder) การจัดหาวัตถุดิบ ต้นทุนของวัตถุดิบ ตลอดจนเทคโนโลยีให้ชัดเจนและเพียงพอ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ