รมว.ICT ขอเวลา 2-3 วันสรุปผลตรวจสอบสัญญา กสท.-TRUE หลังพบปม 5 ประเด็น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 26, 2012 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการทำสัญญาเพื่อดำเนินธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ (3G HSPA) ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) กับ กลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มีข้อเสนอ 4 ข้ออยู่ระหว่างการพิจารณาสัญญากสท-ทรู ได้ข้อสรุปอย่างไรจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง ซึ่งผลการตรวจสอบสัญญาในลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหน้าที่อื่นๆ ไอซีทีพร้อมที่จะนำเอกสารมอบให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาด้วย

"การเซ็นสัญญาดังกล่าวถือว่าดำเนินการรีบเร่งและพบข้อผิดปกติ ถือว่าส่งผลกระทบต่อระบบโทรคมนาคมาในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการโดยผู้ที่จะชี้ว่าสัญญานี้จะต้องเลิกดำเนินงานหรือไม่ต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสิน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเรื่องนี้มีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องซึ่งเรื่องก็อยู่ที่ปปช.อยู่แล้ว ถ้าเชื่อได้ว่าทุจริตหรือไม่ชอบก็ต้องส่งให้ศาลพิจารณาต่อ คาดจะใช้เวลา 3 วันจึงจะได้ข้อสรุป โดยการตรวจสอบพบข้อผิดปกติ ส่วนสัญญายังเดินหน้าได้ตามปกติจนกว่าศาลจะตัดสิน" นายอนุดิษฐ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการทำสัญญาเพื่อดำเนินธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ (3G HSPA) พบข้อผิดปกติ 5 เรื่อง ประกอบด้วย การทำสัญญาดังกล่าวน่าจะมีการกระทำที่เป็นการวางแผนไว้แล้ว โดยมีการต่อลองการวางแผนเข้าซื้อกิจการฮัทช์จากเดิมให้เหลือไม่เกิน 7,500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องได้ให้มีการเจรจาต่อรองให้เหลือเพียง 4,000 ล้านบาท ดังนั้น กสทฯ จึงไม่สามารถซื้อกิจการกับฮัทชิสันได้ จึงเป็นเหตุให้เอกชนเข้ามาทำกิจการร่วม 3G รูปแบบใหม่ด้วยเวลาอันรวดเร็ว

ประเด็นแรกฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ประเด็นที่ 2 การตรวจสอบพบมีเจตนาหลบเลี่ยงไม่ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และประเด็นการยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจซีดีเอ็มเอในส่วนกลาง คือสัญญาที่ 1 คือสัญญาการทำตลาดส่วนกลางกับฮัทชิสัน และสัญญาที่ 2 คือสัญญาเช่าเครื่อง ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานกับรัฐพ.ศ.2535

ประเด็นที่ 3 ในการที่มีการเสนอเรื่องมายังกระทรวงไอซีทีเพื่อเสนอเรื่องวันที่ 24 ธ.ค.53 ซึ่งมีเจตนาขอความเห็นชอบจากรมว.ไอซีที หลังจากวันที่ 23 ธ.ค.ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าบอร์ดกสท.เพื่อพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องการขอซื้อซีดีเอ็มเอในส่วนกลาง พบว่าการดำเนินการเรื่องของหนังสือไม่เป็นไปตามการดำเนินงานปกติ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเรื่องดังกล่าวไม่มีการเสนอเรื่องตามลำดับขั้นตอนอย่างเป็นทางการ

ประเด็นที่ 4 แม้ครม.ในวันนั้นจะเห็นชอบสัญญากสทฯ-TRUE แต่ให้รับความเห็นโดยนำข้อเสนอของสภาพัฒน์และสำนักงานกฤษฎีกาที่ตีความไปพิจารณาด้วย และให้กระทรวงไอซีทีหารือกระทรวงการคลังเพื่อนำไปพิจารณา ซึ่งทาง กสท ไม่ได้นำข้อเสนอดังกล่าวไปดำเนินการ

ส่วนประเด็นที่ 5 นั้น กสทฯ ได้ขอให้ครม.เห็นชอบการเช่าโครงข่าย ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วเห็นว่าการนำเรื่องเข้าครม.เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสัญญาซึ่งเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ร่วมการงานฯ ซึ่งผลการตรวจสอบของคณะกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าสัญญาดังกล่าว ขัดกับพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. และกฎข้อบังคับของ กสทช. และไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ การทำสัญญาเพื่อดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ระหว่าง กสท-ทรู เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ม.ค.54 เพื่อให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมด้วยเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ ซึ่งเนื้อความในสัญญามี 2 ส่วน คือ สัญญาอนุมัติให้ ทรู ดูแลลูกค้าผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอ 700,000 เลขหมายของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือฮัทช์ หลังจากที่ทรูเข้าซื้อกิจการเป็นระยะเวลา 2 ปี และสัญญาเช่าอุปกรณ์เอชเอสพีเอ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนโครงข่ายโทรศัพท์มือ ถือระบบซีดีเอ็มเอในส่วนภูมิภาค 51 จังหวัด ให้เป็นโครงข่ายที่ให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมด้วยเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ โดยทรูสามารถเช่าใช้อุปกรณ์และสถานีฐาน เพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G บนระบบเอชเอสพีเอแบบขายส่งและขายต่อบริการ (โฮลเซล-รีเทล) เป็นเวลา 14.6 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ