นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บมจ.ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) คาดว่าการเจรจาเข้าซื้อเหมืองถ่านหินใหม่ในอินโดนีเซียจะจบดีลได้ก่อนสงกรานต์นี้ เป็นเหมืองที่มีปริมาณสำรองกว่า 100 ล้านตัน คาดใช้เงินราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/55 คาดยอดขายน่าจะต่ำกว่าเป้า และต่ำกว่าไตรมาส 1/54 โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะถึง 1 ล้านตันหรือไม่ เนื่องจากราคาขายถ่านหิน sport ลดลง เพราะถ้าราคาไม่ดีเราก็ไม่ขาย spot อย่างที่เหมือง SGP ไตรมาส 1/54 ราคาที่ 90 เหรียญฯ/ตัน แต่ไตรมาส 1/55 นี้เหลือ 80 เหรียญฯ และ LHI ไตรมาส 1/54 ที่ 60 เหรียญฯ ปีนี้ก็ลดลง
"ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ยอดขายไม่ได้ตามเป้า เพราะตลาดขาลงราคา spot ถูก คนก็อยากซื้อ spot มาก แต่ถ้าราคาไม่ดีเราก็ไม่ขาย ที่ spot ถูกลงเพราะเทรดเดอร์เกาหลี ไต้หวันหายไป ซึ่งผลดำเนินงานไตรมาส 1 คงพลิกไม่ทัน แต่ไตรมาส 2-3-4 น่าจะกลับขึ้นมาได้" นายสีหศักดิ์ กล่าว
นายสีหศักดิ์ กล่าวต่อว่า ราคาถ่านหิน 3 เดือนจากนี้ไปน่าจะทรงๆ อย่างราคานิวคาสเซิลตอนนี้ลงมาแถว 103 เหรียญฯ จากก่อนหน้า 105-110 เหรียญ กังวลเรื่องยุโรป แต่คาดว่าครึ่งปีหลังจะค่อยๆ pick up ตามราคาน้ำมัน
แต่ในไตรมาส 1/55 นี้ บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินประกันจากผลกระทบน้ำท่วมที่อยุธยาปีก่อน ราว 26-30 ล้านบาท โดยบันทึกไตรมาส 1/55 ทั้งหมด
สำหรับปีนี้ตั้งเป้าปริมาณขายที่ 7 ล้านตัน สูงกว่าปี 54 ที่ 5.13 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นผลิตเองจาก 2 เหมืองในอินโดฯ คือ SGP 2.5 ล้านตัน LHI 3 ล้านตัน และเทรดดิ้งอีก 1.5 ล้านตัน สำหรับ LMS 8 แสนตัน และอยุธยา 8 แสนตัน โดยปีนี้ทำสัญญาขายล่วงหน้าไม่ถึง 60% ได้ราคาสูงกว่าราคาตลาด
และในปี 56 ตั้งงบลงทุนที่ 15-16 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับเพิ่มกำลังการผลิตเหมือง SGP อีก 1 ล้านตัน เป็น 3.5 ล้านตัน จาก 2.5 ล้านตันปีนี้
ส่วนเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในเหมืองอินโดฯ ที่จะเหลือ 49% นั้น นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบ เพราะทั้ง 2 เหมืองที่อินโดฯ ยังอยู่ในข้อกฎหมายเดิม แต่แม้ว่าจะต้องทำตามเกณฑ์ใหม่ก็ไม่กังวล เพราะทุกแหล่งมีพาร์ทเนอร์อินโดฯ ถ้าจะให้พาร์ทเนอร์ถือหุ้นในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มีปัญหา ถ้าถึงเวลาต้องลดการถือหุ้นก็ต้องทำ แต่ก็ต้องคุยเรื่องราคาที่เราพอใจ
"เหมืองที่เรามีอยู่ยังไม่กระทบ อย่าง LHI เราถือหุ้นอยู่ 55% ถ้าจะต้องให้พาร์ทเนอร์อีก 6% ก็ไม่เป็นไร ซึ่งที่ผ่านมาทางการอินโดฯ ก็ได้เรียกเราไปคุยแล้วขอให้เราเป็นอาสาสมัครทำตามข้อกฎหมายใหม่ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป" นายสีหศักดิ์ กล่าว
นายสีหศักดิ์ คาดว่า ธุรกิจเอทานอลปีนี้ลจะกลับมาเป็นกำไร 100-200 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 30 กว่าล้านบาท เพราะปีนี้ต้นทุนวัตถุดิบหลักคือโมลาสราคาต่ำลง จากต้นปีมานี้อยู่ที่ 2,500-3,300 บาทต่อตัน จากปลายปีก่อน 3,800 บาท โดยไตรมาส 1/55 ราคาขายเอทานอลอยู่ที่ 19.50 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาโมลาสเฉลี่ย 3,000 บาท/ตัน ซึ่งก็ทำให้เรามีกำไรแล้ว ปีนี้ตั้งเป้าผลิต 70-80 ล้านลิตร ขณะที่โรงงานแห่งที่ 2 จะเริ่มกำลังการผลิตในไตรมาส 2/55 นี้