นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ (ITD) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในหภาพพม่า บนพื้นที่ทั้งหมด 1.5 แสนไร่ว่า การใช้เงินลงทุนทั้งหมดในการก่อสร้างนิคมฯนั้น หากประเมินเท่ากับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดแล้ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนตกไร่ละ 1 ล้านบาท เพราะฉะนั้นพื้นที่นิคมฯทวาย ที่มีพื้นที่ 1.5 แสนไร่จะใช้เงินงบประมาณประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
การดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวายของ ITD นั้น จะเน้นการขายที่ดินให้กับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาก่อสร้างโรงงาน โดยบริษัทจะลงทุนพัฒนาในส่วนของสาธารณูปโภคต่างๆ น้ำ ไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
"ปัจจุบันนี้การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเราใช้งบประมาณเฉพาะในส่วนของการสร้างท่าเรือ และถนนก็รวมแล้ว 3,500 ล้านเหรียญแล้ว โดยเงินในส่วนนี้จะเป็นการกู้ 60% จากมูลค่าโครงการจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศจากญี่ปุ่นที่เป็นลักษณะเงินให้ความช่วยเหลือ ซึ่งดีมาก ส่วนที่เหลือก็จะใช้จากเงินสดและรายได้ที่ขายที่ดินที่จะเข้ามา"นายเปรมชัย กล่าว
ล่าสุดได้มีการเจรจากับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อตั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงถลุงเหล็ก โรงปุ๋ย รวมทั้งผู้ที่สนใจเข้ามาถือหุ้นในท่าเรือเรียบร้อยแล้ว
โดยส่วนของโรงกลั่นน้ำมันได้เจรจากับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากตะวันออกกลาง เพื่อเข้ามาก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันบนพื้นที่ 2.5 แสนไร่ กำลังการผลิต 3 แสนบาร์เรล/วัน โดยล่าสุดทางบริษัทดังกล่าวได้นำเรื่องการลงทุนในนิคมฯทวายเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการของบริษัทเพื่อขออนุมัติแล้ว
"ในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันนั้น เขามีแผนจะสร้างเป็นคอมเพล็กซ์แบบครบวงจร รวมเอาทั้งน้ำมัน ปิโตรเคมีไปด้วยเหมือนปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันนั้นจริงๆแล้วเราก็ได้คุยกับทางปตท. ไว้ด้วย และทางเขาก็สนใจ"นายเปรมชัย กล่าว
สำหรับโรงถลุงเหล็ก บริษัทได้เจรจาขายที่ดินให้กับบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสนใจที่จะเข้ามาก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ 1.25 หมื่นไร่ โรงงานมีกำลังการผลิต 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ ส่วนโรงงานผลิตปุ๋ย จะเป็นกลุ่มนักลงทุนจากยุโรปกำลังการผลิต 4 ล้านตันต่อปี
ขณะที่การก่อสร้างท่าเรือ ขณะนี้ บมจ.ราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH) และกลุ่มนักลงทุนโรงถลุงเหล็ก สนใจจะมาร่วมทุนด้วย เพราะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากท่าเรือโดยตรง โดยท่าเรือดังกล่าวมีความสามารถในการรองรับการขนส่งทางเรือขนาด 2 แสนเดทเวทตัน ซึ่งการก่อสร้างท่าเรือจะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 2.5 พันล้านเหรียญ
อย่างไรดี บริษัทก็ยังสนใจจะเข้าไปเป็น Strategic Partner กับกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาที่ซื้อและก่อสร้างโรงงานในนิคมด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นน้ำมัน โรงถลุงเหล็ก โรงปุ๋ย ด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาลงทุนจะต้องการยื่นข้อเสนอให้บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(DCC) ซึ่ง ITD ถือหุ้นใหญ่ เข้าร่วมทุนอยู่แล้ว แต่บริษัทคงต้องศึกษาความคุ้มค่าและสัดสวนการลงทุนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในหภาพพม่า บริหารจัดการโดยบริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งมี ITD ถือหุ้นจำนวน 75% ส่วนอีก 25% กระจายให้กับกลุ่มนักลงทุนท้องถิ่น
นายเปรมชัย กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะขายหุ้นบริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนท์ ให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นด้วย โดยพร้อมจะลดสัดสวนลงเหลือ 51% ในอนาคต ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจากับกลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้แล้ว รวมทั้งล่าสุดมีนักลงทุนจากสิงคโปร์ที่เข้ามาติดต่อขอเข้าร่วมทุนในบริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนท์ด้วยเช่นกัน
"ในอนาคตก็น่าจะที่จะต้องนำบริษัทนี้เข้าตลาดหุ้นด้วย เนื่องจากทวายฯ เป็นบริษัทใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และเรามีแผนจะขยายอีกมาก" นายเปรมชัย กล่าว