ทริสฯ ให้เครดิตองค์กร "บล.ธนชาต" ที่ระดับ A แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 3, 2012 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตองค์กรของ บล.ธนชาต ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% โดยธนาคาร ธนชาต และเป็นบริษัทที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มธนชาต

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และมีแนวทางการบริหารงานที่ระมัดระวัง ตลอดจนความสามารถในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และการมีฐานเงินทุนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากเครือข่ายและความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่กลุ่มธนชาตมีอยู่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและภาวะตลาดหุ้นไทยที่ยังมีความผันผวนอยู่มาก อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบที่เริ่มต้นในปี 2555 นี้

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ระมัดระวังของผู้บริหาร ตลอดจนจุดแข็งทางธุรกิจของบริษัทในส่วนของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารธนชาตและยังคงเป็นบริษัทที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มธนชาตต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะยังรักษาระบบจัดการความเสี่ยงเอาไว้ให้เพียงพอเพื่อใช้ควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ อีกทั้งบริษัทจะสามารถเรียกคืนส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศกลับมาได้ในอนาคตอันใกล้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บล. ธนชาตมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างมั่นคงที่ระดับ 4%-5% ในช่วงปลายปี 2553 บริษัทได้รับโอนกิจการของ บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวง จำกัด ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดในระหว่างปี 2553 อยู่ที่ 0.9% แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในปี 2554 กลับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.4% (อันดับ 10 จากนายหน้า 33 ราย) จาก 4.5% (อันดับ 8) ในปี 2553 อันเป็นผลจากการสิ้นสุดสัญญาความร่วมมือกับคู่ค้าต่างประเทศรายหนึ่งในช่วงกลางปี 2553 สืบเนื่องจากเหตุดังกล่าว ปริมาณการซื้อขายของบริษัทในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศจึงลดลงไปกว่า 90% ทั้งนี้ บริษัทมีความร่วมมือในด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดจนวาณิชธนกิจ และงานวิจัยกับคู่ค้าต่างประเทศรายนี้มาตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการเจรจาหาคู่ค้ารายใหม่เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศกลับคืนมา ในส่วนของธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์นั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ในปี 2554 จาก 2.2% ในปี 2553

บล.ธนชาตใช้ประโยชน์จากสาขาของธนาคารธนชาตในการขยายฐานลูกค้ารายย่อย โดยราว 25% ของบัญชีเปิดใหม่ในปี 2554 เป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำโดยธนาคารธนชาตเมื่อเทียบกับในปี 2553 แล้วบริษัทมีสัดส่วนดังกล่าวไม่ถึง 15% ธนาคารธนชาตได้เสนอผลตอบแทนที่จูงใจแก่พนักงานเพื่อให้พนักงานแนะนำลูกค้าของธนาคารให้มาใช้บริการของบริษัท การที่ธนาคารธนชาตควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทยเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่บริษัทมากขึ้น โดยสาขาของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 677 สาขา ณ สิ้นปี 2554 เทียบกับ 257 สาขา ณ สิ้นปี 2553 นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการให้บริการวาณิชธนกิจแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องในกลุ่มธนชาตด้วย การเกื้อหนุนเหล่านี้ช่วยทำให้บริษัทมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ไม่มีความสัมพันธ์กับธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินเต็มรูปแบบ นอกเหนือจากความช่วยเหลือในการขยายธุรกิจแล้ว ธนาคารธนชาตยังให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัท โดยกว่า 60% ของวงเงินสินเชื่อที่บริษัทมีเป็นวงเงินสินเชื่อจากธนาคารธนชาต

บล.ธนชาตมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ไม่มากนักเนื่องจากบริษัทมีนโยบายการลงทุนเพื่อผลตอบแทนแบบ Arbitrage เท่านั้นโดยไม่ได้มีการเก็งกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์รายวัน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเงินลงทุนที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียนประมาณ 2-3 บริษัท โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 มูลค่าตลาดของเงินลงทุนเหล่านั้นอยู่ที่ 855 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าเงินลงทุนนี้จะสร้างผลตอบแทนแก่บริษัทในรูปของรายได้จากเงินปันผล แต่ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อยู่บ้าง ในส่วนของความเสี่ยงด้านเครดิตจากการให้สินเชื่อนั้น บริษัทมียอดการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 1.9 พันล้านบาท คิดเป็นเกือบ 2 เท่าของยอด ณ สิ้นปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 1.0 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสามารถควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตในส่วนนี้ได้ต่อไปโดยใช้เกณฑ์การเรียกหลักประกันเพิ่มและการบังคับขายที่เข้มงวด รวมทั้งยังคงนโยบายการกำหนดเกณฑ์ของหลักประกันที่เคร่งครัด

ความสามารถในการทำกำไรของ บล. ธนชาตอยู่ในระดับที่ดีและเทียบเคียงได้กับคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 63% ในปี 2554 จาก 54% ในปี 2553 การเพิ่มสูงขึ้นนี้มีสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น 20% จากขนาดของกิจการที่ใหญ่ขึ้นภายหลังการควบรวมกับบริษัทหลักทรัพย์นครหลวงไทย ในขณะเดียวกันกับที่บริษัทต้องสูญเสียรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศหลังจากความร่วมมือกับคู่ค้าต่างประเทศได้สิ้นสุดลง

กำไรสุทธิของ บล. ธนชาตลดลงเหลือ 293 ล้านบาทในปี 2554 เทียบกับ 391 ล้านบาทในปี 2553 แม้จะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 4% ก็ตาม ณ สิ้นปี 2554 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 2.6 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ 149% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ 7% ตามที่ทางการกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ