นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีได้ทำเรื่องมาถึง กฟผ.ระยะหนึ่งแล้วเพื่อขอแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในเรื่องของการปรับราคาค่าเชื้อเพลิงที่มีตลอดอายุสัญญาให้สามารถปรับเปลี่ยนตามราคาตลาดเพิ่มขึ้นได้บ้างเพื่อให้ผู้จัดหาถ่านหินของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีอยู่ได้ เนื่องจากราคาถ่านหินในตลาดโลกสูงขึ้น แต่กฟผ.แจ้งไปว่าในฐานะคู่สัญญาไม่สามารถที่จะแก้ไขสัญญาได้ ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะพิจารณา
ในเรื่องนี้มี 2 ประเด็นในการพิจารณา คือ หากไม่มีการปรับสัญญาราคาถ่านหินก็จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ที่จัดหาถ่านหินให้กับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี อาจจะทำธุรกิจต่อไปไม่ได้ต้องหยุดกิจการและมีความเสี่ยงเรื่องการจ่ายไฟฟ้า ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือ ปรับปรุงสัญญาราคาถ่านหินเพื่อให้โรงไฟฟ้าอยู่ต่อไป แต่ก็จะต้องศึกษาเรื่องกฎหมายให้ดี เพราะอาจจะมีปัญหาด้านกฎหมายได้
ด้านนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัญหาของโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี ซึ่งเป็นไอพีพีถ่านหินโรงแรกของประเทศไทยที่ประสบปัญหาต้นทุนราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาถ่านหินที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ได้กำหนดให้ใช้อัตราราคาคงที่ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตลอด 25 ปี ที่เฉลี่ยประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ในปัจจุบันราคาถ่านหินในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวราคาถ่านหินในตลาดโลกประมาณ 80-90 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาในตลาดจริงจะอยู่ที่ประมาณ 100-120 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ซึ่งผู้จัดหาถ่านหินป้อนให้กับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีกำลังประสบปัญหาการจัดหาถ่านหินในราคาคงที่ตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป จะส่งผลให้ผู้จัดหาถ่านหินอาจจะไม่สามารถจัดหาถ่านหินให้กับบีแอลซีพีในราคาตามสัญญาได้ และหากปล่อยไว้อาจทำให้โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีจะไม่มีถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อภาพรวม และจะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าหายไปจากระบบ 1,400 เมกะวัตต์ เป็นความเสี่ยงต่อระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และเสนอมาให้กระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)พิจารณา อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในปัจจุบันยังจ่ายไฟฟ้าตามปกติ เต็มกำลังการผลิต
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นการร่วมทุนในสัดส่วนร้อยละ 50 ระหว่าง บมจ.บ้านปู (BANPU) และบมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) มีกำลังการผลิต 1,434 เมกะวัตต์ เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้า สำหรับหน่วยผลิตแรก 717 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.49 และหน่วยผลิตที่สอง 717 เมกะวัตต์ ในเดือนก.พ.50 อยู่ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer; IPP) ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 37 เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการไฟฟ้า โดยได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เมื่อวันที่ 19 พ.ย.40 รวมระยะเวลา 25 ปี