กสทช.กำหนดค่าโทรมือถือในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สต. มีผล 3 เม.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 4, 2012 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ กสทช.ได้มีประกาศ เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 เกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เก็บค่าโทรศัพท์จากผู้ใช้บริการได้ในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ ในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.55 ที่ผ่านมา

สำหรับ ข้อดีของประกาศดังกล่าวจะมี 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม เนื่องจากต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ดังนั้นผู้ประกอบการไม่ควรค้ากำไรเกินควร 2.ทำให้ค่าไอซี (ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย) มีอัตราถูกลงและต่ำกว่า 50 สตางค์/นาที ซึ่งบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องไปหารือกันเพื่อกำหนดอัตราค่าไอซีใหม่ ส่งผลให้ค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายถูกลงตามไปด้วย

และ 3. ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน (พรีเพด) จะได้ใช้ค่าบริการในอัตราที่ถูกลง จากเดิมที่ผู้ให้บริการกำหนดค่าบริการประมาณนาทีละ 2 บาท เพื่อให้มีวันหมดอายุอยู่ได้ 1 ปี แต่เมื่อประกาศดังกล่าวบังคับใช้จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการมือถือเติมเงินได้ใช้ค่าบริการในอัตราค่าโทรนาทีละไม่เกิน 99สตางค์ด้วย

"สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว คือการให้บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในตลาดลดค่าบริการลงเหลือนาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ เนื่องจากยิ่งมีลูกค้าจำนวนมากต้นทุนค่าบริการยิ่งถูก และเมื่อผู้ให้บริการรายใหญ่ลดค่าบริการลงจะส่งผลให้ผู้ให้บริการรายเล็กต้องแข่งขันเรื่องของราคาเช่นกันประโยชน์จึงตกอยู่กับผู้บริโภค" น.พ.ประวิทย์ กล่าว

น.พ.ประวิทย์ กล่าวว่า สำหรับโปรโมชั่นที่ออกมาก่อนที่ประกาศจะบังคับใช้ผู้ให้บริการสามารถเรียกเก็บค่าบริการตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับผู้ใช้บริการต่อไปจนกว่าสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง แต่จะต้องไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 2555 และห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตทำการขยายระยะเวลาของสัญญาหรือรายการส่งเสริมการขายที่มีอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนกว่า 70 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นบริการเติมเงิน(พรีเพด) 63.4 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 89.78% และรายเดือน (โพสต์เพด) จำนวน 7.22 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 10.22%

“ช่วงที่รอประกาศมีผลบังคับใช้ไม่ค่อยมีประชาชนร้องเรียนเรื่องอัตราค่าบริการเพราะเป็นเรื่องของโปรโมชั่นที่เลือกใช้บริการกันเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะร้องเรียนเรื่องสายหลุดมากกว่า" น.พ.ประวิทย์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ