น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับ บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) หลังรายได้จากสัมปทานเอกชนจะหมดอายุและต้องนำรายได้จากสัญญาสัมปทานส่งให้กระทรวงการคลังทั้งหมด ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กำกับกิจการประกอบวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ให้เสร็จภายในปี 2555 คือ การตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโครงข่ายมือ ถือและเสาสถานีฐานทั่วประเทศที่มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ทั้งทีโอที และ กสทฯ จะได้รับสินทรัพย์จากเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาสัมปทาน คือ การสร้าง โอน ให้บริการ (บีทีโอ) ซึ่งจะทำให้กลายเป็นจุดที่แข็งแรงของทีโอที และกสทฯ ที่จะสามารถช่วยสร้างรายได้จากการเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย (เน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์) ในอนาคต
"การที่ทั้ง 2 หน่วยงานไปคิดแผนโดยให้ยึดตามนโยบายของกระทรวงไอซีทีที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งได้ให้แนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับภาครัฐ และไม่ควรเกิดธุรกิจซ้ำซ้อน รวมถึงยึดความอยู่รอดขององค์กรเป็นหลัก และมีธุรกิจใหม่เพื่อเลี้ยงองค์กรก่อนปี 2556 เนื่องจาก 2 หน่วยงานดังกล่าวจะต้องนำส่งรายได้จากสัญญาสัมปทานทั้งหมดเข้าสู่กระทรวงการคลังตั้งแต่ม.ค.ปี 2558 ซึ่งหากมองแง่ลบ คือ ไม่มีรายได้จากสัมปทานแต่มองในแง่ดี คือ ทีโอที และ กสทฯ กลายเป็นเจ้าของโครงข่ายไร้สายที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงต้องร่วมมือกันเพื่อให้องค์กรอยู่รอดให้ได้" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการ คือ ได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อร่วมทำงาน โดยมี นางจิราวรรณ บุญเพิ่มปลัดกระทรวงไอซีที เป็นประธาน และ ประกอบด้วย ประธานบอร์ด และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทั้งสองแห่ง ที่จะต้องเร่งสรุปแนวทางเพื่อดำเนินการให้เร็ที่สุด เพราะสัญญาสัมปทานของ บริษัท ทรูมูฟ จะสิ้นสุดในปี 2556 ถือว่าเร็วกว่ารายอื่น
นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า ปัจจุบันทั้งทีโอทีและ กสทฯ มีสถานีฐานที่จะได้รับโอนจากเอกชนรวมกันกว่า 3.1 หมื่นสถานี แบ่งเป็น บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จำนวน 1.3 หมื่นสถานี ส่วนกสทฯมี 1.8 หมื่นสถานีจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) บริษัทลูกของ ADVANC
นอกจากแนวทางการตั้งบริษัทลูกร่วมกันแล้ว กสทฯ ยังได้เสนออีกแนวทางที่เป็นไปได้ คือ การ แยกกันดูแลทรัพย์สินภายใต้สัมปทานของตัวเอง ซึ่งหากเป็นแนวทางนี้ จะช่วยกระตุ้นให้ทีโอทีและกสทฯ ตื่นตัวในด้านการพัฒนาบริการมากขึ้น รวมทั้งยังมีโครงข่ายของอีกฝ่ายรองรับกรณีเกิดปัญหาระบบล่ม ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เป็นฝ่ายตัดสินใจ
ขณะที่ทีโอทีได้เสนอแผนตั้งบริษัท ลูกเพื่อลงทุนโครงข่ายให้เอกชนเช่าใช้ (Tower Co) โดยจะนำบริษัทนี้เข้ากระจายหุ้นตลาดหลักทรัพย์มีทีโอทีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ เปิดให้เอกชนรายอื่นที่สนใจเข้ามาดำเนินการร่วมกัน ซึ่งการท บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้นเพื่อแสดงถึงความคล่องตัวและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการทุกรายว่าการลงทุนร่วมกันเกิดขึ้นได้จริง