กสทช.เล็งเปลี่ยนวิธีประมูล 3G เปิดทางรายเล็กเข้าแข่งขัน คาดสรุปเม.ย.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 10, 2012 18:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมการเปิดประมูลใบอนุญาตนั้น ที่ประชุมได้มีแนวทางการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ โดยกำหนดแนวทางหลักๆ คือการเปิดให้ประมูลจำนวน 5 เมกะเฮิร์ซ ซึ่งจะได้ 9 ช่วง จากเดิมที่รูปแบบของการประมูลได้มีการกำหนดให้ใบอนุญาตความถี่ตายตัวที่ 15 เมกะเฮิรตซ์ต่อใบ หรือรวม 3 ใบอนุญาตเท่านั้น เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันและผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะการใช้คลื่นเพียง 5 เมกะเฮิร์ซ ก็สามารถใช้บริการได้ แต่หากเอกชนรายใดต้องการ 10 เมกะเฮิร์ซ ก็สามารถประมูลเป็น 2 ช่วงเป็นต้น

"วิธีการโดยสรุปคือ กทค.จะแบ่งออกช่วงเล็กๆ และให้เกิดการแข่งขันให้จำนวนความต้องการมีการสมดุลกัน คาดว่าปลายเดือนเม.ย.นี้จะสามารถสรุปวิธีการประมูลให้ละเอียดอีกครั้ง แล้วะส่งวิธีการประมูลให้คณะทำงานได้มีการคำนวณราคาเริ่มต้นการประมูลว่าจะได้ราคาเริ่มต้นเท่าไหร่ที่จะต้องจ่ายให้ กสทช.ก่อนที่กสทช.จะส่งต่อให้กระทรวงการคลังต่อไป" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ คณะทำงานได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ยังคงมั่นใจว่าจะมีการประมูล 3จี ไม่เกินไตรมาส 3/55 นี้แน่นอน อีกทั้งยังได้มีการเชิญผู้เชี่ยวมาเป็นคณะที่ปรึกษาอีกด้วย ซึ่งรูปแบบใหม่ที่ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมที่ได้มีการแบ่งเป็นช่วงๆ นั้น อาจจะต้องมีการเปิดประมูลหลายรอบ แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการรายเล็กเข้าแข่งขันได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้นโดยไม่ต้องลดจำนวนใบอนุญาต

"การประมูลแบบ N-1 ไม่มีความจำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพในการประมูล เราจะไม่ได้ใช้และทั่วโลกก็ไม่ใช้วิธีนี้กัน ซึ่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) เพราะกำหนดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและห้ามกีดกันการเข้าถึงการใช้คลื่น ที่ระบุไว้ว่าต้องเป็นธรรม โดยคณะกรรมการต้องมีความรอบคอบ" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

นอกจากนี้ คณะทำงานยังตัดประเด็นเงื่อนไขว่าผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใน 3 ปี หลังจากได้รับใบอนุญาตแต่จะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นอาทิ หลักทรัพย์การันตีหรือเงินทุนเค้าประกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องส่งแผนธุรกิจให้ครบถ้วนก่อนการประมูลใบอนุญาตด้วย ทั้งนี้ อายุใบอนุญาตจะยังคงอยู่ที่ 15 ปี ต่อ 1 ใบอนุญาต

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ระหว่างนี้ จะให้คณะทำงานไปศึกษาว่าเมื่อเสร็จขั้นตอนการประมูล 3จี นี้แล้ว กสทช.จะทำการเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมะกะเฮิร์ซต่อไปอย่างไร เนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ซนั้นปัจุบันถือว่าราคาไม่แพงเท่ากับคลื่น 1800 เมะกะเฮิร์ซ เนื่องจาก 1800 เมะกะเฮิร์ซ สามารถรองรับเทคโนโลยี 4จี หรือกล่าวง่ายๆ คือสามารถนำไปให้บริการ 4 จีได้ จึงจำเป็นต้องนำข้อมูลการประมูล 3 จีไปประกอบกันทั้งหมด

ทั้งนี้ การประมูลใบ 1800 เมะกะเฮิร์ซ ที่ปัจจุบัน บริษัท ทรูมูฟ จำกัด กับ บริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) ที่ถือคลื่นความถี่ 1800 เมะกะเฮิร์ซ รายละ 15 เมะกะเฮิร์ซ จะหมดสัญญาสัมปทานกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ในปี 2556 นี้ โดย กสทช.จะต้องนำมาจัดสรรและเปิดประมูลย่าน 1800 เมะกะเฮิร์ซ จะต้องเปิดประมูลก่อนที่ใบอนุญาตจะ 6 เดือน

“ตอนนี้ผู้เข้าร่วมประมูลเท่าที่ทราบตอนนี้มีมากกว่า 3 ราย เราก็อยากเปิดโอกาสให้รายย่อยด้วย แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน แต่ถ้าต่างชาติจะเข้ามาก็ต้องทำตามขั้นตอนพ.ร.บ.คนต่างด้าวแน่นอน ตอนนี้เราก็พยายามอุดช่องโหว่ทั้งหมดในการที่จะมีการฟ้องร้อง โดยตนอยากจะฝากว่าหากใครขัดขวางการประมูลครั้งนี้ก็เหมือนเป็นศัตรูของชาติสำหรับงบประมาณในการประมูลใบอนุญาตที่ตั้งไว้อยู่ที่ประมาณ 30-40 ล้านบาท ทั้งนี้ บอร์ด กทค.สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าบอร์ดใหญ่ กสทช." พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ