ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 2.4 พันลบ. KK ที่ A-

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 11, 2012 11:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,485 ล้านบาทของธนาคารเกียรตินาคิน (KK) ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ “A-" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ การบริหารความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และฐานเงินกองทุนที่มีความแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงจากการที่ธนาคารมีมูลค่าเครือข่ายธุรกิจ (Franchise Value) ในระดับปานกลาง รวมถึงการมีเครือข่ายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และความไม่แน่นอนของการเคลื่อนย้ายเงินฝากภาคเอกชนภายหลังการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้ในอนาคต

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในระยะกลาง อีกทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารในการควบคุมคุณภาพสินเชื่อและดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินในอนาคต

สิ่งที่ยังคงต้องระมัดระวัง 3 ประการได้แก่ ผลกระทบที่อาจเกิดจากเหตุอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของฐานเงินฝากรายย่อยหลังกฎหมายคุ้มครองเงินฝากมีผลสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคม 2555 และต้นทุนทางการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ความสามารถในการดำรงไว้ซึ่งจุดแข็งของธนาคาร รวมทั้งการรักษาฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสมยังต้องการเวลาในการพิสูจน์ต่อไป

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 11 จากทั้งสิ้น 15 แห่ง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินทรัพย์ 1.6% สินเชื่อ 1.7% และเงินรับฝาก 0.9% ธนาคารมีความชำนาญในธุรกิจหลักอันประกอบด้วยธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ สำหรับธุรกิจสินเชื่อนั้น แม้จะเกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมาแต่สินเชื่อของธนาคารยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 26% อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเติบโตของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศและการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2554 ด้วยยอดสินเชื่อคงค้างในปี 2554 ทั้งสิ้น 135.7 พันล้านบาท โดยธนาคารมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็นสัดส่วน 74% ในขณะที่สินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและสินเชื่อประเภทอื่น ๆ มีสัดส่วน 26%

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2554 มียอดคงค้างของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสิ้น 100.8 พันล้านบาท ด้วยอัตราการขยายตัวที่ 31% เทียบกับ 77.0 พันล้านบาทในปี 2553 ส่วนสินเชื่อธุรกิจกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 13% จาก 20.6 พันล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 23.3 พันล้านบาทในปี 2554

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกิจการกับ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) ในเดือนธันวาคม 2554 ตามกลยุทธ์การเติบโตของธนาคาร ทั้งนี้ บริษัททุนภัทรประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2554 มากเป็นอันดับ 8 จากบริษัทหลักทรัพย์ 33 แห่ง การร่วมกิจการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันดำเนินธุรกิจการเงิน โดยธนาคารจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัททุนภัทรด้วยวิธีการแลกหุ้น (Share Swap) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ทั้งนี้ หากการร่วมกิจการประสบความสำเร็จธนาคารจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์สูงขึ้น อีกทั้งจะมีผลประกอบการโดยรวมที่ดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับในทันทีภายหลังการควบรวมกิจการจะยังไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะเครดิตของธนาคาร

ธนาคารเกียรตินาคินขยายธุรกิจโดยเน้นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีรวมทั้งได้กำหนดนโยบายสินเชื่อและเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 5.4 พันล้านบาทในปี 2552 มาอยู่ที่ 5.0 พันล้านบาทในปี 2553 และ 4.7 พันล้านบาทในปี 2554 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 6.2% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 4.6% ในปี 2553 และ 3.5% ในปี 2554

ในขณะเดียวกัน ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 6.0% ของสินทรัพย์รวมในปี 2554 โดยลดลงจาก 9.9% ในปี 2552 และ 9.0% ในปี 2553 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการให้สินเชื่อแก่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Sub-prime) ซึ่งจัดเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงด้วย ทั้งนี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างยังคงอยู่ในระดับสูงคิดเป็น 12.4% ณ สิ้นปี 2554

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็น 0.41 เท่าของเงินกองทุนซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 0.61 เท่าในปี 2552 นอกจากนี้ อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังเพิ่มขึ้นจาก 69.7% ในปี 2552 เป็น 85.1% ในปี 2553 และเป็น 108.0% ในปี 2554 ด้วย อย่างไรก็ตาม ธนาคารอาจมีสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากเหตุอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 แต่คาดว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราวและอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

ธนาคารเกียรตินาคินสามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นและรักษาระดับผลตอบแทนในระดับสูงจากธุรกิจหลักของธนาคาร อีกทั้งยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินของธนาคารในปี 2554 สูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาด นอกจากนี้ ธนาคารยังตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี ทั้งนี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2554 จำนวน 2,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จาก 2,840 ล้านบาทในปี 2553 โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยในปี 2554 เท่ากับ 1.7% และ12.8% ตามลำดับ ซึ่งลดลงจาก 2.1% และ 14.6% ในปี 2553 นอกจากนี้ ธนาคารยังอาจได้รับผลกระทบจากค่าธรรมเนียมใหม่ที่คำนวณจากฐานเงินฝากและตั๋วแลกเงินซึ่งจะต้องนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อชำระคืนภาระหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อันจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นและกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้ในอนาคต

ในส่วนของสภาพคล่องและแหล่งเงินทุนนั้น ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งอันเกิดจากความไม่สัมพันธ์กันของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน อีกทั้งธนาคารยังคงพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมีความผันผวนได้ง่าย ณ สิ้นปี 2554 แหล่งเงินทุนของธนาคารประกอบด้วยเงินกู้ยืมที่เป็นตั๋วแลกเงินซึ่งคิดเป็น 49% ของเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงิน เงินฝากประจำ 42% และเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ 9% อย่างไรก็ดี ธนาคารมีแผนที่จะเพิ่มฐานบัญชีเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยเพื่อให้แหล่งเงินทุนมีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 50 ล้านบาทเป็น 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 นี้อาจส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งทางการเงินและเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนของธนาคารได้ด้วยเช่นกัน

ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับ 15.4% ในปี 2554 เพิ่มขึ้นจาก 15.2% ในปี 2553 สำหรับอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมนั้นลดลงเล็กน้อยจาก 14.7% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 12.5% ในปี 2554 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินเชื่อ ธนาคารมีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะสินเชื่อโครงการที่อยู่อาศัย ดังนั้น การดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับความเสียหายที่มิอาจคาดการณ์ได้ในภาวะถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ