บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทด้วยตราสินค้าที่มีชื่อเสียง ตลอดจนการมีธุรกิจและแหล่งรายได้ที่หลากหลาย รวมถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทกับพันธมิตรธุรกิจและกลุ่มลูกค้า การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เข้มแข็งและความได้เปรียบด้านต้นทุนจากการประหยัดจากขนาดด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งความเสี่ยงจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจากการควบรวมกิจการและการขยายธุรกิจของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนสถานะที่แข็งแกร่งในการแข่งขันของบริษัท โดยทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ โดยการลงทุนหรือการขยายธุรกิจใดใดในอนาคตควรใช้เงินทุนจากการดำเนินงานบางส่วนเพื่อให้สามารถคงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์มีประวัติการประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ยาวนานกว่า 1 ศตวรรษ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อกลุ่มบริษัททีซีซีเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โดย ณ เดือนมีนาคม 2555 มีสัดส่วนการถือหุ้น 70.06% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท กลุ่มบริษัททีซีซีเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท และมี บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เป็นบริษัทในเครือรายสำคัญที่ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม
ธุรกิจของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ครอบคลุมการจัดจำหน่ายและการผลิตสินค้าของบริษัทเองและให้บริการจัดจำหน่ายและผลิตสินค้าให้แก่บริษัทอื่น ๆ ด้วย ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มสินค้าและบริการทางอุตสาหกรรม ซึ่งจำหน่ายสินค้าและให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง และวิศวกรรม 2) กลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งทำการผลิต ทำการตลาด และจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งประเภทอาหารและของใช้ 3) กลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพและด้านเทคนิค ซึ่งเน้นสินค้าด้านเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าเคมีภัณฑ์พิเศษเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและอาหาร สินค้าและอุปกรณ์กราฟิก อุปกรณ์เครื่องเขียน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา 4) ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ร้านหนังสือเอเซีย บุ๊คส และธุรกิจสารสนเทศ ในปี 2554 บริษัทมียอดขายทั้งสิ้น 31,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปี 2553 ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตทางธุรกิจตามปกติและจากการควบรวมกิจการ โดยครึ่งหนึ่งของยอดขายรวมมาจากกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรม อีก 30% มาจากรายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค และ 18.4% เป็นรายได้จากกลุ่มเวชภัณฑ์รวมกับกลุ่มสินค้าเทคนิค
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ได้รับแรงเสริมจากความหลากหลายของธุรกิจและแหล่งรายได้ บริษัทเป็น 1 ใน 2 ของผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ตราสินค้าที่แข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัท เช่น เซลล็อกซ์ ซิลค์ เทสโต โดโซะ และนกแก้ว เป็นปัจจัยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของบริษัทให้มีเหนือคู่แข่ง นอกจากนี้ ธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ส่วนหนึ่งยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องของบริษัทไทยเบฟเวอเรจซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ด้วย ในระยะปานกลางคาดว่ากลุ่มธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์จะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้และกำไรให้แก่บริษัทต่อไป สำหรับด้านการผลิตนั้น บริษัทพยายามใช้ประโยชน์จากโรงงานที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสร้างความได้เปรียบจากต้นทุนสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เน้นย้ำความสามารถในการแข่งขันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น บริษัทได้แสดงความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อคงสถานะผู้นำในการแข่งขันไว้ให้ได้ต่อไป
บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์มีกลยุทธ์การเติบโตโดยมุ่งเน้นขยายการให้บริการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าสำหรับสินค้าจากบริษัทภายนอกมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันบริษัทยังคงขยายการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทเองด้วย บริษัทวางเป้าหมายที่จะเป็นผู้กระจายสินค้าในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบอินโดจีน ในช่วงกลางปี 2554 บริษัทได้ซื้อกิจการของ บริษัท เอเซีย บุ๊คส จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในการจัดจำหน่ายและค้าปลีกหนังสือภาษาอังกฤษในประเทศไทย โดยคาดหวังที่จะขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปสู่สื่อประกอบการเรียนการสอน ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และรูปแบบการอ่านบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (E-books) ในด้านธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ซึ่งนอกจากจะมีการขยายกำลังการผลิตแล้ว บริษัทยังได้ลงทุนร่วมกับบริษัทพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานก่อตั้งโรงงานผลิตในประเทศเวียดนามและมาเลเซียด้วย แม้ว่าการขยายธุรกิจในอนาคตจะทำให้ฐานะทางธุรกิจของบริษัทเข้มแข็งขึ้น แต่บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้สูงสุด รวมทั้งความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศเหล่านั้น
ฐานะการเงินของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ยังคงแข็งแกร่งจากการมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น ผลประกอบการที่น่าพึงพอใจ กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การเติบโตของบริษัททำให้ระดับภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายของบริษัทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 15%-16% เทียบกับ 13% ในปี 2552 อันเป็นผลมาจากอัตราการใช้กำลังการผลิตและประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้นในธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ บริษัทได้รับผลกระทบไม่มากนักจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 เนื่องจากสินทรัพย์และโรงงานผลิตหลักของบริษัทไม่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม อุทกภัยครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัทในด้านต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นและความต้องการของตลาดที่หยุดชะงักชั่วคราวเนื่องจากลูกค้าเลื่อนการรับสินค้าจากบริษัทในช่วงเกิดอุทกภัย เมื่อพิจารณาจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงและราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นแล้วคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับแรงกดดันในอนาคต ทั้งนี้ การคิดหาวิธีควบคุมค่าใช้จ่ายและการนำเสนอสินค้าใหม่ถือเป็นสิ่งที่บริษัทต้องให้ความสำคัญเพื่อที่จะปรับปรุงอัตรากำไรให้ดียิ่งขึ้น
ในปี 2554 บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์มีเงินทุนจากการดำเนินงาน 4,060 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ 3,830 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งเติบโตจากธุรกิจขวดแก้วและกระป๋องเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ระดับภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 8,075 ล้านบาทในปี 2553 มาอยู่ที่ 11,110 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากบริษัทลงทุนซื้อกิจการบริษัทเอเซีย บุ๊คสและขยายธุรกิจในธุรกิจบรรจุภัณฑ์เป็นสำคัญ เป็นผลให้ภาระหนี้สินของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 38.4% ในปี 2553 เป็น 43.3% ในปี 2554 สภาพคล่องของบริษัทอ่อนตัวลงแต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ ด้วยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 14.3 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 36.6% ในปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 47.4% ในปี 2553
เมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ในช่วงระยะ 3-5 ปีข้างหน้าแล้ว ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทใช้เงินทุนจาการดำเนินงานบางส่วนเพื่อการลงทุนในอนาคต การเปลี่ยนนโยบายด้านการเงินให้เป็นแบบเชิงรุกมากขึ้นหรือการซื้อกิจการด้วยการก่อหนี้จำนวนมากอาจทำให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลงและเพิ่มแรงกดดันต่ออันดับเครดิต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอเอาไว้ตลอดเวลาแม้ในช่วงที่มีการลงทุน