น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ในช่วงปี 2552 - 2553 กบข. ถูกสมาชิกฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง อันเนื่องจากผลประกอบการของ กบข. ขาดทุนในปี 2551 รวมทั้งสิ้น 633 คดี ปัจจุบันศาลปกครองได้มีคำสั่งยกฟ้องและจำหน่ายคดีของสมาชิกรวม 430 คดี เนื่องจากศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า การลงทุนของ กบข. เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และการคำนวณผลประโยชน์จากหน่วยลงทุนของสมาชิกที่เกษียณอายุราชการในปี 2551 เป็นการตีมูลค่าตามราคาตลาด (Mark to Market) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการ กบข. โดยคาดว่าภายในปีนี้ศาลปกครองน่าจะมีคำพิพากษาคดีที่สมาชิกฟ้องร้อง กบข. ครบทุกคดี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555 ศาลปกครองกลางพิษณุโลก ได้มีคำสั่งยกฟ้องกรณีสมาชิก กบข. กลุ่มหนึ่งยื่นฟ้อง กบข. และคณะกรรมการ กบข. กรณีผลประกอบการขาดทุนปี 2551 ทำให้สมาชิกที่เกษียณราชการในปีดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ตอบแทนการลงทุนลดลง และแตกต่างจากสมาชิกที่เกษียณในปี 2550 และปี 2552 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศคณะกรรมการ กบข. เรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ของสมาชิก และหลักเกณฑ์การคิดมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนส่วนสมาชิกเป็นจำนวนหน่วยลงทุนและมูลค่าต่อหน่วย พร้อมทั้ง ขอให้ชดใช้เงินสินไหมทดแทนผลประโยชน์การลงทุนที่ลดลง พร้อมดอกเบี้ย
ศาลปกครองพิษณุโลกได้วินิจฉัยคดีดังกล่าวว่า กบข. คำนวณยอดเงินและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในปี 2551 ตามที่กฎหมายกำหนดโดยเป็นการคำนวณผลประโยชน์จากหน่วยลงทุนของสมาชิก ซึ่งมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวันตามมูลค่าสินทรัพย์ในราคาตลาด (Mark to Market) ผลประโยชน์แต่ละช่วงอาจมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน และภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ดังนั้น สมาชิก กบข. ที่เกษียณในช่วงเวลาที่ต่างกัน มูลค่าหน่วยลงทุนย่อมไม่เท่ากัน ผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับย่อมแตกต่างกันได้
ส่วนผลประกอบการที่ขาดทุนนั้น ศาลปกครองพิษณุโลก เห็นว่า การลงทุนมีความเสี่ยง สมาชิก กบข. ต้องยอมรับผลของความเสี่ยง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสองทาง คือ ได้ผลกำไรหรือขาดทุน ซึ่งผลการดำเนินการของ กบข. ตั้งแต่ปี 2540 — 2550 เป็นกำไรมาโดยตลอด ส่วนการขาดทุนในปี 2551 นั้น เป็นผลจากวิกฤติการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก จึงถือเป็นเหตุที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ดังนั้น การจัดสรรผลประโยชน์จากการลงทุนเข้าบัญชีสมาชิกของ กบข. จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย
น.ส.โสภาวดีชี้แจงว่า วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ในปี 2551 ส่งผลให้การลงทุนในตราสารทุนทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และทำให้ผลการดำเนินงานของ กบข. ติดลบอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นในปี 2552 และ 2553 ผลการดำเนินงานของ กบข.ก็ดีขึ้น โดยผลตอบแทนการลงทุนของ กบข.เฉลี่ยนับตั้งแต่ตั้งกองทุน (ปี 2540 — 2554) อยู่ที่ 6.97%