โกลเบล็กแนะจับตาหนี้สเปน สัปดาห์นี้กรอบราคาทอง 1,600-1,686 ดอลล์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 17, 2012 08:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต กรรมการผู้จัดการ บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์(GBX) ผู้ค้าทองคำแท่งรายใหญ่เพียงเจ้าเดียวที่ลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวถึงแนวโน้มราคาทองประจำสัปดาห์(16-20 เม.ย.55) ว่า หากราคาทองคำในวันที่ 13 เม.ย.55 ปิดเหนือ 1,665 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ หรือ 24,290 บาท/หนึ่งบาททองคำ (อ้างอิงค่าเงินบาทที่ 30.85 บาท/ดอลลาร์) จะส่งผลให้นักลงทุนมองกรอบลงทุนทองคำที่เหมาะสมในช่วง 1,645-1,686 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ หรือ 24,000-24,600 บาท/หนึ่งบาททองคำ ในทางกลับกันหากราคาปิดต่ำกว่า 1,665 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ ควรหาจังหวะลงทุนในกรอบ 1,600-1,665 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ หรือ 23,340-24,290 บาท/หนึ่งบาททองคำ

GBX แนะนำให้ลงทุนในกรอบดังกล่าว และติดตามปัจจัยตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งยอดค้าปลีกสหรัฐฯในวันที่ 16 เม.ย.55 ซึ่งหากตัวเลขออกมาดีจะส่งผลลบต่อราคาทองคำ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับกันหากออกมาไม่ดี นักลงทุนในตลาดโลกจะยังคงถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยต่อไป (Safe Haven Asset Theme)

นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาดูภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Indicator) และยอดสร้างบ้านใหม่สหรัฐฯในวันอังคารที่ 17 เม.ย.55 รวมไปถึงตัวเลขการว่างงานของอังกฤษวันพุธ 18 เม.ย.55 ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจและยอดขายบ้านมือสองสหรัฐวันพฤหัสบดีที่ 19 เม.ย.55 และ German IFO Business Climate Index รวมถึงยอดค้าปลีกอังกฤษที่จะประกาศในวันศุกร์ที่ 20 เม.ย.55

สำหรับแนวโน้มราคาทองคำในไตรมาสที่ 2 ทางโกลเบล็ก มองว่า ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 1,430-1,780 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ โดยเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2014 และคาดว่าจะยังไม่มีการใช้มาตรการ QE3 ในไตรมาสนี้เช่นกัน แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาได้แก่ การรีไฟแนนซ์หนี้ของสเปน หลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้ 6% ทำให้มีความกังวลว่าสเปนอาจต้องขอรับความช่วยเหลือเหมือนกรณีของกรีซที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากสถิติที่ทางโกลเบล็กได้ติดตามความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในไตรมาสแรกที่ผ่านมา สรุปได้ว่า ในช่วงปลายเดือนมกราคม ราคาทองคำปรับตัวขึ้นโดยได้รับปัจจัยบวกจากเทศกาลตรุษจีน และความคาดหวังที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะใช้มาตรการ QE3 จึงทำให้ในเดือนมกราคมราคาทองคำปรับสูงขึ้นถึง 183 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ ในขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นต่อก่อนจะปรับตัวลงในวันสุดท้ายของเดือน หลังจากที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีถ้อยแถลงเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ไม่มีการกล่าวถึงการใช้มาตรการ QE3 ส่งผลให้นักลงทุนที่ซื้อเก็งกำไรในข่าวดังกล่าวทยอยขายทองคำออกมา (Buy on Rumor, Sell on Fact) และทำให้ราคาปรับตัวลงมามากถึง 90 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ ภายในวันเดียว ซึ่งนับว่าเป็นวันที่ราคาทองคำและโลหะมีค่าอื่นๆย่อตัวลงมามากที่สุดในไตรมาสแรก

ขณะที่เดือนมีนาคม ราคาทองคำยังคงปรับตัวลงต่อ จากปัจจัยกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนลดความหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะใช้มาตรการ QE3 นอกจากนี้ การที่ประเทศจีนซึ่งบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงดัชนีภาคการผลิตที่ออกมาแย่ลงยิ่งทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในศักยภาพด้านอุปสงค์ของจีนจึงมีแรงเทขายทองคำออกมา แต่อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำโลกก็ยังคงสูงกว่าราคาเปิดในเดือนมกราคม แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ราคาทองคำของไทยในเดือนมีนาคมถูกกว่าในเดือนมกราคม

ด้านนายสัญญา หาญพัฒนกิจพานิช รองผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บล. โกลเบล็ก กล่าวว่า การซื้อขายทองคำ และโกลด์ฟิวเจอร์ส ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยความผันผวนของค่าเงินบาทส่งผลให้นักลงทุน และผู้ทำธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยในไตรมาสที่สองของปีนี้ ทางบริษัท ตลาดอนุพันธ์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ TFEX มีแผนจะนำสินค้าดอลลาร์บาทล่วงหน้า หรือ USD ซึ่งเป็นสัญญาล่วงหน้าค่าเงินบาทที่เทียบเท่ากับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ 1,000 เหรียญต่อสัญญา เพื่อให้นักลงทุนได้ใช้ประโยชน์ และถือเป็นสินค้าใหม่ที่มีความสำคัญ และช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ในมุมมองของโกลเบล็ก สินค้าดังกล่าวมีประโยชน์ต่อนักลงทุนในทองคำที่ส่วนใหญ่ซื้อขายเก็งกำไรทองคำในหน่วยสกุลเงินบาท แต่การลงทุนโดยอาศัยเพียงการคาดการณ์ราคาทองคำจากสถิติของราคาทองคำโลกที่มีหน่วยเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ อาจไม่ส่งผลตามคาดหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งหรือราคาโกลด์ฟิวเจอร์สในประเทศไทยไม่ปรับขึ้นหรือลงตามราคาในตลาดโลกที่ซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์

เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของสกุลเงินต่างๆ ด้วยภาวะตลาดเงินโลกที่ไม่ชัดเจนอันเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก โดยเริ่มมีความผันผวนสูงและบ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดจะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทผันผวนได้หลายครั้งภายใน 1 ชั่วโมง และหลายครั้งที่เคลื่อนไหวมากกว่า 10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นความผันผวนที่สูงมาก ดังนั้น การมี USD หรือฟิวเจอร์สดอลลาร์บาท จะช่วยให้ผู้นำเข้า และส่งออกสามารถป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง

“USD หรือฟิวเจอร์สดอลลาร์บาทตัวนี้ก่อให้เกิดโอกาสมากกว่าการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าค่าเงินบาทแบบฟอร์เวิร์ดกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเดิมผู้ประกอบการรายย่อยจะไม่สามารถทำได้ ด้วยความยุ่งยากของการทำ Trade Finance และด้วยเครดิตที่มีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังคงกังวลว่านักลงทุนหรือผู้ประกอบการรายย่อยอาจจะยังไม่กล้าเข้ามาใช้ประโยชน์จากฟิวเจอร์สดอลลาร์บาทกันเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคย แต่จะเป็นบรรดาผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดโกลด์ฟิวเจอร์สบ้านเราเท่านั้นที่จะใช้กันมากกว่า"นายสัญญา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องศึกษาถึงข้อดี และข้อเสียของฟิวเจอร์สดอลลาร์บาทว่าเหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละคนหรือไม่ ตามความต้องการของนักลงทุน หรือเจ้าของธุรกิจนำเข้า และส่งออก แต่โกลเบล็กเชื่อว่าหากสามารถทำความเข้าใจ และนำมาประยุกต์ใช้ให้ถูกต้องจะส่งผลดีต่อนักลงทุนมากกว่าก่อให้เกิดผลเสียอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ