BBL เผย Q1/55 สินเชื่อ-กำไรโตตามภาพรวมเศรษฐกิจหลังฟื้นจากภาวะน้ำท่วม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 23, 2012 09:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4/54 และภาคธุรกิจยังคงมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาครัฐเริ่มมีความชัดเจนเรื่องแผนการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

จากภาพรวมแนวโน้มการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนดังกล่าว รวมถึงความต้องการสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงกิจการที่ประสบอุทกภัยในช่วงไตรมาส 4 ประกอบกับการที่ธนาคารมีการติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ไตรมาส 1/55 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 39,839 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 จากสิ้นปี 54 หรือร้อยละ 15.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 55 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อรวมทั้งสิ้น 1,510,237 ล้านบาท ความต้องการสินเชื่อในไตรมาสแรกนี้มีทั้งเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อการลงทุนระยะยาว โดยมีความต้องการจากหลายภาคธุรกิจและจากทุกกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีขนาดกลาง

คุณภาพสินเชื่อยังคงเป็นปัจจัยที่ธนาคารให้ความสำคัญ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 55 สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารมีจำนวน 42,895 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 ของเงินให้สินเชื่อ เทียบกับร้อยละ 2.7 ณ สิ้นปี 54

ในไตรมาสนี้ธนาคารตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 1,534 ล้านบาท ลดลง 226 ล้านบาท จากไตรมาส 1 ปีก่อนหน้า และลดลง 5,512 ล้านบาท จากไตรมาส 4/54 ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 55 ธนาคารมีสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 82,848 ล้านบาท และอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ร้อยละ 193.1

ในด้านสภาพคล่อง แม้ว่าการแข่งขันในการระดมเงินฝากยังคงมีอยู่ในระดับสูง แต่ธนาคารสามารถระดมเงินฝากเพิ่มขึ้น 57,635 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 จากปีก่อน เป็น 1,645,469 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 55 เงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากความสำเร็จในการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เครือข่ายสาขาที่ครอบคลุม และความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกับลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล

ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลงจากร้อยละ 92.6 ณ สิ้นปี 54 เป็นร้อยละ 91.8 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 55 ซึ่งการที่ธนาคารสามารถเพิ่มสภาพคล่องในภาวะที่ความต้องการสินเชื่อยังคงมีอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของธนาคารในอนาคต

ด้านเงินกองทุน หากนับรวมกำไรสุทธิครึ่งหลังของปี 54 และไตรมาสแรกของปี 55 และหักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ธนาคารจะมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นและเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15.9 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการขยายการลงทุนของภาคธุรกิจในรอบนี้ ขณะเดียวกันเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้เกณฑ์บาเซิล 3 ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 56

ไตรมาส 1/55 ธนาคารมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการนำส่งเงินแก่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการเตรียมสภาพคล่องของธนาคาร ขณะที่ด้านรายได้ยังคงมีข้อจำกัดในด้านราคาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัยในไตรมาส 4 ส่งผลให้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 647 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารลดลงจากร้อยละ 2.81 เป็นร้อยละ 2.60 อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิจะมีการปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง ถูกชดเชยด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่เพิ่มขึ้น 596 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.6 จากไตรมาสก่อน และรายได้รับจากเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น 665 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงาน 20,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากไตรมาส 4/54

ค่าใช้จ่ายดำเนินงานในไตรมาส 1/55 มีจำนวน 8,523 ล้านบาท ลดลง 1,984 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.9 จากไตรมาสก่อน ส่วนมากจากค่าใช้จ่ายพนักงานลดลง 511 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดลง 1,583 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.7 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงจากร้อยละ 50.3 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 40.8 ในไตรมาสนี้

ธนาคารมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จำนวน 2,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,377 ล้านบาท หรือร้อยละ 204.6 จากไตรมาส 4/54 เนื่องจากในไตรมาสก่อนธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้จำนวนสูง และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ธนาคารมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ลดลง 264 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.8 เนื่องจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ในปีนี้

“ในปีนี้ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่าวงจรการลงทุนจะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง สภาพคล่องที่เพียงพอและเงินกองทุนที่แข็งแกร่งทำให้ธนาคารมีศักยภาพและความพร้อมที่จะเติบโตไปกับเศรษฐกิจในระดับประเทศและภูมิภาค" นายชาติศิริ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ