นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย)กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจนถึงสิ้นปี 55 เชื่อว่ามีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ จากการขับเคลื่อนของปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก
แต่หากมองภาพการลงทุนในระยะสั้นถึงกลาง นักลงทุนจะต้องติดตามรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/55 และแนวโน้มของบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยออกมาจนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งคาดว่าจะออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ภายหลังจากที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ประกาศออกมาก่อนแล้วซึ่งพบว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีกำไรสุทธิดีกว่าคาด ดังนั้น นักลงทุนอาจพิจารณา“ทยอยลงทุน"เมื่อตลาดหุ้นมีการปรับฐานและแนะนำให้ถือลงทุนระยะยาว เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี
ตลาดหุ้นไทยเชื่อว่ายังได้รับความสนใจจากนักลงทุนถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดจะมีความผันผวนจากการขายทำกำไรบางส่วน เพราะนับตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้นไทยสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 16% (12 เมษายน 2555) แต่หากมองภาพโดยรวม นักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของไทย
ทาง IMF ได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์ GDP ไทยในปี 2012 และ 2013 เพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 5.5% และ 7.5% ตามลำดับ (เมษายน 2555) สอดคล้องกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ไว้ที่ 5.7% ซึ่งการเติบโตนั้นมาจากการลงทุนของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่วิกฤติน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา และการบริโภคของภาคประชาชนจากการปรับเพิ่มขึ้นค่าครองชีพ รวมทั้งนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะทยอยออกมา
นายจุมพล กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมามีความผันผวนมาจากความกังวลกับการลุกลามของปัญหาหนี้ในกลุ่มยูโรโซน เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อการแก้ปัญหาหนี้ของประเทศอิตาลีและสเปนที่หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเงินก็จะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ เนื่องจากอิตาลีและสเปนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 และ 4 ของกลุ่มยูโรโซน รวมถึงความกังวลต่อการที่เนเธอรแลนด์มีโอกาสที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากฟิทช์ หากสถานะการคลังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการปรับลดยอดขาดดุล
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐหลายตัวออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนใน 1Q12 ขยายตัวที่ระดับ 8.1% YoY ซึ่งชะลอตัวลงจาก 4Q11 ที่ระดับ 8.9% YoY จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นเอเชียมีแรงขายทำกำไรและมีความผันผวนจากปัจจัยลบ
อย่างไรก็ตาม ตลาดได้คลายความกังวลไปบ้างจากปัจจัยเชิงบวกจากการประชุม รมว.คลัง G-20 พิจารณาการเพิ่มทุนให้แก่ IMF ประมาณ 4.30 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินเพิ่มทุนนี้จะเติมเงินกองทุนฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งจะช่วยคลายความกังวลเรื่องการลุกลามของวิกฤติหนี้ยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
และการที่ EU ยืนยันว่าสเปนยังไม่มีความจำเป็นต้องขอรับเงินช่วยเหลือผ่านโครงการ EFSF รวมถึงการที่พันธบัตรระยะสั้นของสเปนขายได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องติดตามปัจจัยหนุนจากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะผ่อนคลายนโยบายการเงินลงอีก โดยเฉพาะการปรับลด RRR หลังจากที่สัญญาณการขยายตัวที่ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนเริ่มชัดเจนขึ้น