ฟิทช์คงอันดับเครดิตของ CIMBTที่ ‘BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 27, 2012 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวแก่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA-(tha)’ โดยธนาคารมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตของ CIMBT สะท้อนถึงการที่ฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ CIMBT หากมีความจำเป็น จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ คือ CIMB Bank Berhad หรือ CIMB (ได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ CIMB และ CIMBT ที่ต่างกันอยู่ 1 อันดับ เป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีการรวมระบบการดำเนินงานเข้ากับ CIMB และมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่มมากขึ้น ซึ่งการประกาศเพิ่มทุนครั้งล่าสุดของ CIMBT โดยผ่านการเสนอขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม แสดงถึงการสนับสนุนที่แข็งแกร่งในด้านเงินกองทุนจาก CIMB

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ที่ ‘bb-’ ของ CIMBT สะท้อนถึงขนาดเครือข่ายการดำเนินธุรกิจที่ยังมีขนาดไม่ใหญ่นัก แม้จะมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ระดับเงินกองทุนที่ยังคงค่อนข้างอ่อนแอ คุณภาพสินทรัพย์ที่ยังไม่แข็งแกร่งมากนัก รวมทั้งความสามารถในระดมเงินทุนและสภาพคล่องที่ปรับตัวอ่อนแอลง ขณะเดียวกันความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้ปรับตัวสูงขึ้น จากการที่อายุของสินทรัพย์ยาวขึ้นขณะที่เงินกู้ยืมระยะสั้น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตั๋วแลกเงิน) มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาระผูกพันนอกงบดุลยังอาจทำให้เกิดภาวะกระแสเงินไหลออกมากขึ้น อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดปัญหาด้านสภาพคล่อง ฟิทช์คาดว่า CIMBT น่าจะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจาก CIMB

แม้ว่า CIMBT จะมีแผนการเพิ่มทุนจำนวน 4.89 พันล้านในปีนี้ แต่ฟิทช์ยังคงมองว่าระดับเงินกองทุนของธนาคารจะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนักเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกัน CIMB ตกลงที่จะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ CIMBT อย่างต่อเนื่องตามความจำเป็นจนถึงปี 2561 ซึ่งหลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่อนุญาติให้ CIMB เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้อีก ในส่วนของผลกำไรแม้ว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าการเติบโตของสินเทรัพย์ และจะยังคงเป็นแรงกดดันต่อเงินกองทุน จนกว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของความสามารถ และ/หรือ แนวโน้มที่ CIMB จะให้การสนับสนุนแก่ CIMBT รวมทั้งการเพิ่มหรือลดสัดส่วนการถือหุ้น อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตระยะยาวของ CIMBT อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลให้อันดับเครดิตของ CIMBT ยังคงมีแนวโน้มมีเสถียรภาพ เช่นเดียวกับแนวโน้มของอันดับเครดิตของ CIMB

ในส่วนของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CIMBT อาจปรับลดลงได้หากสภาพคล่องยังคงปรับตัวอ่อนแอลง และ/หรือ มีการขยายธุรกิจในลักษณะที่เป็นเชิงรุกที่อาจส่งผลให้ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CIMBT อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการที่อัตราส่วนทางการเงินด้านต่างๆ มีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งรวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการระดมเงินทุน และสภาพคล่อง รวมถึงระดับเงินกองทุนที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นจากการสะสมของกำไร อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในระยะปานกลางยังมีไม่มากนัก

CIMBT ประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ 346 ล้านบาท ในไตรมาส 1/55 เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่รายได้รวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 19% อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 73% ในไตรมาส 1/55 เทียบกับ 68% ในปี 54 อัตราส่วนต่างกำไรสุทธิปรับตัวลดลงเนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากการแข่งขันด้านเงินฝากจากรายย่อยที่รุนแรงในตลาด ระดับของเงินกองทุนปรับตัวลดลงโดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ลดลงเป็น 7.65% ณ สิ้นปี 54 จาก 9.04% ณ สิ้นปี 53 เนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตขึ้นถึง 27% จากปีก่อน จากการขยายสินเชื่อในกลุ่ม SME อย่างไรก็ตามสินเชื่อของธนาคารปรับตัวลดลงเล็กน้อยในไตรมาส 1/55 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 54

อันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ CIMBT ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่า อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ CIMBT อยู่ 2 อันดับ ธนาคารสามารถเลือกที่จะงดหรือเลื่อนการชำระดอกเบี้ยหากธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนในระหว่างปี แต่ก็ยังคงสามารถชำระดอกเบี้ยก็ได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ CIMB ได้แสดงความจำนงที่จะให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการชำระดอกเบี้ย หากมีความจำเป็น แต่ในกรณีที่การชำระดอกเบี้ยตามกำหนดเวลาส่งผลให้ธนาคารมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่า 0% หรือในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร้องขอให้ CIMBT เพิ่มทุน ก็จะเป็นการบังคับให้ธนาคารต้องงดหรือเลื่อนการชำระดอกเบี้ยออกไป อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีค่อนข้างน้อย

CIMBT เดิมชื่อธนาคารไทยธนาคาร (Bank Thai) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 41 จากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการหลายแห่งโดยคำสั่งของรัฐบาล CIMBT เป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 1.4% ในระบบสินเชื่อและเงินฝากในประเทศไทย ณ สิ้นปี 54 CIMB มีสัดส่วนการถือหุ้นใน CIMBT อยู่ที่ 93.2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ