บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTSG) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ที่ลงทุนโดยการถือหุ้นในสัดส่วน 96.4% ใน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับอย่างสม่ำเสมอจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้ในระดับสูงและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ จากการที่ผลประกอบการส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากการดำเนินงานของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ดังนั้น สถานะเครดิตของบริษัทจึงมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพเครดิตของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ได้รับอันดับเครดิต “A" จากทริสเรทติ้ง) อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานและชำระหนี้ของบริษัทต้องพึ่งพิงเงินปันผลจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นอย่างมาก ดังนั้น ในกรณีที่บริษัทออกตราสารหนี้ใดใด ตราสารหนี้ดังกล่าวจะมีสถานะที่ด้อยสิทธิกว่าตราสารหนี้ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าธุรกิจรถไฟฟ้าบีทีเอสจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนและสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจหรือฐานะการเงินของกลุ่มตกต่ำหรือถดถอยลงซึ่งอาจเป็นผลจากการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นหรือมีการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้นก็อาจส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า BTS ก่อตั้งในปี 2511 ภายใต้ชื่อเดิมคือ บมจ.ธนายง(TYONG) ธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทคือธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งบริษัทมีที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในย่านถนนบางนา-ตราด อย่างไรก็ตามหลังจากที่บริษัทซื้อกิจการของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ และปรับโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มบริษัทในช่วงปี 2553-2554 แล้วก็ทำให้บริษัทกลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ซึ่งถือหุ้นในบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจ 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจขนส่งมวลชน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสื่อโฆษณา และธุรกิจให้บริการ
ธุรกิจขนส่งมวลชนเป็นธุรกิจหลักซึ่งสร้างรายได้คิดเป็น 64% ของรายได้ทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2555 ตามมาด้วยธุรกิจสื่อโฆษณา 24% ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น รายได้ค่อนข้างผันผวนเนื่องจากไม่มีการเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ถนนพหลโยธินอยู่ 1 โครงการซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท โดย ณ เดือนธันวาคม 2554 การก่อสร้างมีความคืบหน้า 39%
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า BTS ประกอบธุรกิจให้บริการรถไฟฟ้าและสื่อโฆษณาผ่านบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพและ บริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (วีจีไอ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นโดยตรงและโดยอ้อม
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับสัมปทานการก่อสร้างและให้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสภายใต้สัญญาสัมปทาน 30 ปี (ธันวาคม 2542 ถึง ธันวาคม 2572) จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วยระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.5 กิโลเมตร ซึ่งให้บริการในเส้นทางย่านสีลม สาธร และสุขุมวิท ภายใต้ข้อกำหนดในสัญญาสัมปทาน บริษัทได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้ค่าโดยสาร รวมทั้งการให้เช่าพื้นที่และโฆษณาในบริเวณสถานี นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงนามในสัญญาในการเป็นผู้รับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงระบบในส่วนต่อขยายทั้งสายสีลมและสายสุขุมวิทกับ กทม. ด้วย โดย กทม. เป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างส่วนต่อขยายดังกล่าว ณ เดือนธันวาคม 2554 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันอยู่ในระดับสูงสุดที่ 507,689 เที่ยว
บริษัทวีจีไอ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นผู้ให้บริการเช่าพื้นที่โฆษณาและร้านค้าบนสถานีรถไฟฟ้าทั้งในและนอกตัวรถไฟฟ้า นอกจากนี้ บริษัท วีจีไอยังขยายธุรกิจการขายพื้นที่ไปยังช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Retail Trade) เช่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซี และบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้าด้วย
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2555 บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมีรายได้ทั้งสิ้น 5,310 ล้านบาท เทียบกับ 3,869 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลของรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นในธุรกิจขนส่งมวลชน (31%) และธุรกิจสื่อโฆษณา (40%) ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพคิดเป็น 91% และ 100% ของตัวเลขรวมของกลุ่มบริษัทตามลำดับ
แม้ฐานะทางการเงินของ BTS จะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ แต่บริษัทก็มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าเนื่องจากธุรกิจอื่นของบริษัทยังไม่เข้มแข็งและบริษัทมีภาระหนี้ที่สูงกว่า หลังจากการปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ ภาระหนี้ของบริษัทลดลงอย่างมากเหลือ 4,779 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2550 จาก 35,176 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2549 และลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 2,313 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2553
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บริษัทได้ซื้อกิจการของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพในเดือนพฤษภาคม 2553 แล้ว ภาระหนี้ของบริษัทซึ่งเป็นงบการเงินรวมก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากถึง 23,628 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2554 ซึ่งรวมหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 10,000 ล้านบาทและภาระหนี้ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพด้วย ภาระหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 25,871 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2554 จากการกู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการซื้อรถไฟฟ้าเพิ่ม ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 40.5% ภายใต้เงื่อนไขสัญญาของหุ้นกู้แปลงสภาพ ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ในวันที่ 25 มกราคม 2556
ในกรณีดังกล่าวคาดว่าบริษัทไม่น่าจะมีปัญหาในการไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพซึ่งมีมูลค่า 10,000 ล้านบาทโดยใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินเนื่องจากปัจจุบันหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันเต็มวงเงินจากสถาบันการเงิน