บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยกเลิก “เครดิตพินิจ" แนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2554 พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" การประกาศอันดับเครดิตในครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะในจังหวัดอยุธยาระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2554
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงความไม่แน่นอนในอนาคตของนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหลังเหตุอุทกภัยและความไม่แน่นอนในการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทในจังหวัดอยุธยา ความน่าสนใจในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่เปลี่ยนแปลงไปจะกระทบต่อการขายที่ดิน รวมถึงจะมีผลกระทบต่อการขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของบริษัทด้วย
ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตจะกลับมาเป็น “Stable" หรือ “คงที่" ได้หากโรงไฟฟ้าและการขายสาธารณูปโภคของบริษัทกลับมาดำเนินการและมีกระแสเงินสดที่แน่นอนได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตจะถูกปรับลดลงหากบริษัทต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้นในการฟื้นฟูการดำเนินงานและความแข็งแกร่งทางการเงิน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ROJNA เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลวินิชบุตรและกลุ่มซูมิโตโม (Sumitomo Group) นอกเหนือจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งไฟฟ้าและสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมในประเทศไทยและจีนด้วย ในช่วงระหว่างปี 2550-2554 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและคอนโดมิเนียมคิดเป็น 30% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากการขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคคิดเป็น 70%
ROJNA เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งในจังหวัดอยุธยาและจังหวัดระยอง ในช่วงปี 2550-2554 บริษัทมียอดขายพื้นที่ในสวนอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย 400-650 ไร่ต่อปี โดยประมาณ 90%-95% เป็นยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะจังหวัดอยุธยา นอกจากเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมแล้ว บริษัทยังถือหุ้น 41% ใน บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาด้วย และเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น บริษัทโรจนะ พาวเวอร์ จึงขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจาก 122 เมกะวัตต์ในปี 2547 เป็น 267 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน โดย 90 เมกะวัตต์ขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) และส่วนที่เหลือขายให้แก่ลูกค้าเอกชนภายในสวนอุตสาหกรรม
ในช่วงปี 2550-2553 บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคคิดเป็นประมาณ 40% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย
อุทกภัยครั้งใหญ่สร้างความเสียหายให้แก่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางของประเทศไทยซึ่งรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2554 โรงไฟฟ้าขนาด 267 เมกะวัตต์ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะต้องปิดดำเนินการและประกาศเหตุสุดวิสัยต่อคู่สัญญา
ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าโรจนะอยู่ระหว่างการซ่อมแซมและคาดว่าจะกลับมาดำเนินการผลิตได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2555 ในเบื้องต้นบริษัทประเมินมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย 3,528 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยความเสียหายของทรัพย์สินในโรงไฟฟ้าจำนวน 3,414 ล้านบาทและความเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่นอีกจำนวน 114 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2554 บริษัทได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัยแล้ว 1,130 ล้านบาทจากจำนวนที่ยื่นขอชดเชยรวม 2,562 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้ยื่นขอชดเชยการสูญเสียกำไรจากการขายไฟฟ้าจำนวน 800 ล้านบาทในช่วงเวลาที่หยุดการดำเนินงานโรงไฟฟ้าด้วย
จากผลกระทบของอุทกภัย ROJNA มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 1,247 ล้านบาทสำหรับไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 และ 838 ล้านบาทสำหรับปี 2554 โดยผลขาดทุนสุทธิเกิดจากการหยุดดำเนินการของธุรกิจในช่วงที่เกิดอุทกภัย รวมทั้งมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วมหลังสุทธิกับเงินที่คาดว่าจะได้รับชดเชยจากบริษัทประกันภัยจำนวน 966 ล้านบาท ผลขาดทุนดังกล่าวยังรวมขาดทุนจากการขายเงินลงทุนใน บริษัท โรจนะ ดิสติลเลอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกจำนวน 551 ล้านบาทด้วย
หลังการเกิดอุทกภัย ยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมลดลงอย่างชัดเจนและนักลงทุนส่วนใหญ่แสดงความต้องการลงทุนในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาอุทกภัย ROJNA ขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมโรจนะได้ประมาณ 100 ไร่หลังอุทกภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน บริษัทจึงได้ลงทุนสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมโดยว่าจ้างให้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) ก่อสร้างคันกั้นน้ำความยาว 77 กิโลเมตรล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ โดยมีมูลค่าก่อสร้าง 2,030 ล้านบาท ปัจจุบันแหล่งเงินทุนสร้างคันกันน้ำเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ในภายหลังบริษัทจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลตามแผนสนับสนุนเงินทุนจำนวน 2 ใน 3 ของมูลค่าก่อสร้างคันกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาอุทกภัย และค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือรัฐบาลจะสนับสนุนโดยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
เพื่อลดผลกระทบจากการชะลอตัวของยอดขายในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมหลัก บริษัทได้ซื้อกิจการของ บริษัท สวนอุตสาหกรรมปลวกแดง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยองด้วยมูลค่า 433 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทสวนอุตสาหกรรมปลวกแดงมีพื้นที่สำหรับขายจำนวน 528 ไร่ ทั้งนี้ ROJNA มีแผนจะกระจายความเสี่ยงไปยังพื้นที่อื่นนอกจังหวัดอยุธยา
ฐานะการเงินของบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะอ่อนแอลงหลังจากประสบอุทกภัย โดย ณ เดือนธันวาคม 2554 บริษัทมีหนี้เงินกู้รวม 12,244 ล้านบาทและมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 66.0% ในระหว่างปี 2555-2557 บริษัทมีแผนการลงทุนรวมจำนวน 10,000 ล้านบาทโดยไม่รวมการซื้อนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ งบลงทุนของบริษัทประกอบด้วยการซ่อมแซมโรงไฟฟ้าเดิม การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม และการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในประเทศจีน การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วยส่วนขยายขนาด 52 เมกะวัตต์ซึ่งจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าขนาด 112 เมกะวัตต์ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ SPP และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ขนาด 24 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเหล่านี้จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในกลางปี 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยังคงเพียงพอและอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากการได้รับเงินชดเชยจากการสูญเสียรายได้ของโรงไฟฟ้าจำนวน 800 ล้านบาทจากบริษัทประกันภัย และได้รับเงินโอนที่ดินจากลูกค้าตามสัญญาขายที่ดินเมื่อปีก่อน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะขายโรงแรมในประเทศจีนด้วย บริษัทยังมีแหล่งเงินทุนจากการทยอยใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิอีกจำนวน 386.4 ล้านหน่วยซึ่งจะหมดอายุภายในปี 2558 โดยราคาใช้สิทธิเท่ากับ 4 บาทต่อหน่วยเมื่อเทียบกับราคาตลาด ณ วันที่ 24 เมษายน 2555 ที่ 7.6 บาท ทั้งนี้ บริษัทจะได้รับเงินทุนจำนวน 1,600 ล้านบาทหากใบสำคัญแสดงสิทธิทั้งหมดได้รับการแปลงสิทธิเป็นหุ้นสามัญ