(เพิ่มเติม) กสทช.ลั่นเปิดประมูล 3G คลื่นใหม่ ก.ย. คาดสรุปราคาเริ่มต้นได้ปลายพ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 2, 2012 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มั่นใจจะเปิดประมูลคลื่น 3จี ภายในเดือนกันยายนนี้ พร้อมเริ่มเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์เป็นระบบดิจตัลในปีนี้

พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. แถลงผลการดำเนินงานใน 6 เดือนว่า หลังจาก กสทช. ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งฯให้ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา กสทช. ได้เดินหน้าวางรากฐานการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยมีเป้าหมายในการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงการสื่อสารครั้งสำคัญของประเทศไทยภายในปีนี้

ทั้งนี้ กสทช.จะเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี บนคลื่นใหม่ภายในเดือนกันยายน พร้อมทั้ง เริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในปีนี้ และจะสมบูรณ์ภายใน 4 ปี รวมทั้งการจัดระเบียบเคเบิ้ลทีวี การแก้ปัญหาวิทยุชุมชน การกำหนดมาตรการป้องกันคลื่นรบกวนการบิน และเน้นการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค

ผลงานชิ้นสำคัญของ กสทช. ในการวางรากฐานไปสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ การจัดทำ 3 แผนแม่บทหลัก ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 55 ได้แก่ แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งจะเปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสาร ด้านอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือในภาคประชาชนได้เตรียมความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยตั้งเป้าการพลิกสังคมไทยสู่ระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบในปี 58

ด้านพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธานด้านกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า การประมูล 3จี บนย่านความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ตซ จะต้องเกิดขึ้นในช่วงไตมาส 3 นี้แน่นอน ซึ่งในการประชุมบอร์ดวันที่ 16 พ.ค.นี้จะสามารถสรุปแผน แนวทางเงื่อนไขต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนว่าบอร์ดจะยังคงรูปแบบการประมูลในลักษณะ N-1 อยู่หรือไม่ ซึ่งแนวทางแบ่งเป็น 9 ช่วง ช่วงละ 5 เมกกะเฮิร์ซยังคงเป็นแนวทางที่น่าสนใจอยู่ ขณะที่ราคาเริ่มต้นประมูลจะสามารถสรุปได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งการประชุมบอร์ดกิจการโทรคมนาคมครั้งต่อไปจะหารือเรื่องรูปแบบการประมูลครั้งสุดท้ายว่าควรจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ หลังจากประมูล 3 จี เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องเร่งให้มีการเปิดประมูล 4 จี ต่อเนื่องเพื่อรองรับกับสัญญาสัมปทานที่เอกชนได้ทำร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ที่จะหมดสัญญาในช่วงเดือน ก.ย.56 เนื่องจากต้องมีผู้ให้บริการมารองรับการใช้งานของลูกค้า ทั้งนี้ เงื่อนไขที่ กสท.คงจะต้องมาดูอาจจะเป็นในเรื่องของการพิจารณาว่าผู้ให้บริการมือถือรายใดที่คลื่นความถี่มากกว่ารายอื่น กสทช.จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าร่วมประมูล 4 จี หรือไม่ อย่างไร

สำหรับความคืบหน้าของการตรวจสอบสัญญาการให้บริการ 3 จี ระหว่าง กสทฯ กับกลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) นั้น คณะทำงานได้มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่ง กสทฯ เองก็ได้มีการส่งรายละเอียดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดย กสทช.ก็ได้เชิญนายกิติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. ร่วมหารือไปแล้ว ทั้งนี้ คณะทำงานจะตรวจสอบเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับ กสทช. คือ มาตรา 46 พ.ร.บ.กสทช. การให้บริการขายส่งขายต่อ และ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรค มนาคม พ.ศ.2544 หากพบว่าสัญญาดังกล่าวมีข้อผิดพลาดก็จะต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยมั่นใจว่าจะต้องสรุปผลการตรวจสอบได้ก่อนที่จะมีการประมูล 3จี แน่นอน

นอกจากนี้ สิ่งที่ กสทช.จะเร่งทำ คือ การผลักดันร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วย เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2554 ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยกสทช.จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 เดือน โดยในวันที่ 16 พ.ค.นี้ จะเสนอในที่ประชุมบอร์ดกสทช.แล้วนำร่างที่ได้ปรับปรุงเนื้อหาแล้วออกสู่การรับฟังความเห็น (ประชาพิจารณ์) จากนั้นจะส่งต่อให้กับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำเสนอให้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการตามกฏหมายต่อไป

ทั้งนี้ ร่างประกาศฉบับใหม่จะยังคงหลักการเดิมของประกาศเดิมไว้ คือสัดส่วนการถือครองหุ้นเท่าเดิม แต่จะมีการแก้ไขปัญหาของตัวประกาศเดิม ในเรื่องของการเข้าไปกำกับดูแลที่เกินเลยกว่ากรอบอำนาจของกฎหมายแม่ ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่2) พ.ศ .2549 ซึ่งเป็นฐานในการใช้อำนาจออกประกาศฉบับนี้ และโยงไปเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การประกอบกิจการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

“ส่วนเนื้อหาที่ได้ปรับปรุง คือ อนุญาตให้ต่างชาติสามารถมีส่วนในการแต่งตั้ง หรือ ควบคุม คณะกรรมการ หรือ ผู้บริหารระดับสูงได้ จากร่างเดิมที่ห้ามต่างด้าวมีส่วนในตำแหน่งสูง ซึ่งถือเป็นการแก้ไขตามประชาพิจารณ์ครั้งแรกที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ