ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.บ้านปู(BANPU) ที่ระดับ “AA-" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “AA-“ ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เดิมและใช้สำหรับการลงทุนในอนาคต
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย จีน และออสเตรเลีย นอกจากนี้ บริษัทยังขยายการลงทุนสู่ธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและจีนด้วย
ธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2554 กำไรจากธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 68% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากธุรกิจในประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 26% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรจากธุรกิจในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 6% ของ EBITDA ส่วนในประเทศจีนไม่มีกำไรหลังจากการขายหุ้นเหมือง Daning ออกไปในไตรมาสแรกของปี 2554 เมื่อพิจารณาในด้านประเภทธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินในปี 2554 คิดเป็นสัดส่วน 94% ของ EBITDA เพิ่มขึ้นจาก 91% ในปี 2553 ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือซึ่งมาจากธุรกิจไฟฟ้ามีสัดส่วน 6% ในปี 2554
ในปี 2554 ปริมาณการผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปู (ไม่รวมประเทศจีน) คิดเป็นจำนวน 39.9 ล้านตัน โดยประกอบด้วยถ่านหินที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย 24.6 ล้านตันและในออสเตรเลีย 15.4 ล้านตัน ณ เดือนธันวาคม 2554 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 833 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 599 ล้านตัน ปริมาณสำรองดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตราว 19 ปี อายุปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทเพิ่มขึ้นในปี 2554 มีปัจจัยหลักมาจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งช่วยให้การขุดเหมืองทำได้ลึกมากขึ้น
ธุรกิจถ่านหินในประเทศออสเตรเลียซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัท Centennial Coal Co., Ltd. (CEY) มีผลการดำเนินงานตามคาดโดย CEY ขายถ่านหินได้ 14.9 ล้านตันในปี 2554 และมีรายได้ 32,751 ล้านบาท แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยของ CEY จะค่อนข้างต่ำจากสัญญาขายถ่านหินระยะยาว แต่อัตรา EBITDA ยังเป็นที่น่าพอใจโดยอยู่ที่ระดับ 25% เมื่อเทียบกับธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียของบริษัทที่ระดับ 29% ทั้งนี้ CEY มี EBITDA ในปี 2554 เท่ากับ 8,218 ล้านบาท
ในปี 2554 กลุ่ม BANPU ซื้อหุ้น 100% ใน Hunnu ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลียด้วยมูลค่าเงินลงทุน 472 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย Hunnu เป็นผู้สำรวจและพัฒนาเหมืองถ่านหินโดยมีโครงการเหมืองถ่านหิน 15 แห่งในประเทศมองโกเลีย และมีปริมาณสำรองถ่านหินที่มีศักยภาพ (Coal Resource) รวม 691 ล้านตัน (คิดจากสัดส่วนการถือหุ้น) เนื่องจากเหมืองเกือบทั้งหมดของ Hunnu ยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา Hunnu จึงมีผลขาดทุนสุทธิ 38 ล้านบาทในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2554
ธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยที่ดำเนินงานโดยบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP Power Ltd. - BLCP) ซึ่ง BANPU ถือหุ้น 50% ยังคงมีผลการดำเนินงานตามที่คาดไว้ BLCP เป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด 1,434 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer — IPP) BLCP นำส่งกำไรตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 1,952 ล้านบาทแก่บริษัท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 6% ของ EBITDA รวมของ BANPU ในปี 2554 กำไรตามวิธีส่วนได้เสียของ BLCP ลดลงจากค่าเฉลี่ยที่บริษัทสร้างกำไรให้แก่ BANPU ราว 3,000 ล้านบาทต่อปีในปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากราคาขายไฟฟ้าที่ลดลงตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยกำไรจาก BLCP จะทยอยลดลงเป็นลำดับในอนาคตตามราคาขายไฟฟ้าในสัญญา
อย่างไรก็ตาม โครงการหงสาซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระในประเทศลาวจะช่วยชดเชยผลกำไรที่ลดลงของ BLCP ในอนาคต ปัจจุบันโครงการหงสาอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในปี 2558
เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้ขายถ่านหินรายใหญ่ของ BLCP ได้แจ้งขอเจรจาปรับราคาขายถ่านหินเพิ่มจากสัญญาปัจจุบันที่กำหนดไว้ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเนื่องจากราคาตลาดของถ่านหินปรับตัวสูงกว่าราคาตามสัญญามาก BLCP จึงได้เจรจาขอปรับราคาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากปกติผู้ผลิตไฟฟ้าจะส่งผ่านต้นทุนถ่านหินไปยังราคาขายไฟฟ้าที่ทำสัญญาไว้กับ กฟผ. ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการปรับราคาขายไฟฟ้า
อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของ BANPU ปรับตัวดีขึ้นในปี 2554 หลังจากเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2553 จากการซื้อกิจการของ CEY อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงเหลือ 42.4% ณ เดือนธันวาคม 2554 จาก 51.6% ในเดือนธันวาคม 2553 โดยเป็นผลมาจากการขายหุ้นเหมือง Daning มูลค่า 699 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
BANPU เพิ่มงบลงทุนเป็น 1,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับปี 2555-2558 จากงบลงทุนเดิมที่ 1,339 ล้านดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสูงขึ้นโดยรวมงบลงทุนสำหรับโครงการ Hunnu ที่เพิ่งซื้อกิจการเข้ามาใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ปีละประมาณ 900-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจึงน่าจะเพียงพอต่อแผนการลงทุนที่วางไว้ และเมื่อพิจารณาจากแผนชำระคืนหนี้ปีละ 200-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่านโยบายโครงสร้างเงินทุนของบริษัท
บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิสูงถึง 20,060 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากมีกำไรหลังหักภาษีจากการขายเหมือง Daning จำนวน 6,307 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 25.5% ในปี 2554 จาก 17.4% ในปี 2553 เนื่องจากราคาขายถ่านหินอยู่ในระดับสูง EBITDA เพิ่มขึ้น 64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 31,979 ล้านบาทในปี 2554
สำหรับในปี 2555 แม้ว่าปัจจุบันราคาถ่านหินจะอ่อนตัวลง แต่กำไรของธุรกิจถ่านหินของ BANPU จะยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจเนื่องจากบริษัทได้ทำสัญญาขายถ่านหินล่วงหน้าในราคาสูงในสัดส่วนประมาณ 60% ของปริมาณขายถ่านหินของปี 2555 ในประเทศอินโดนีเซีย สำหรับธุรกิจถ่านหินในประเทศออสเตรเลียนั้น ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยจะปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับสะท้อนราคาส่งออกหลังจากสัญญาเก่าทยอยหมดอายุลง
อย่างไรก็ตาม BANPU ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินมากขึ้น โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลออสเตรเลียได้ผ่านกฎหมายการเก็บภาษี Mineral Resources Rent Tax และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการผ่านกฎหมายภาษีสำหรับธุรกิจเหมืองแร่ฉบับที่ 2 หลังจากเพิ่งผ่านกฎหมายภาษีก๊าซคาร์บอน (Carbon Tax) ไปเมื่อปลายปี 2554 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายซึ่งกำหนดให้ผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศในเหมืองถ่านหินลดสัดส่วนการถือหุ้นให้อยู่ในระดับไม่เกิน 50% ภายใน 10 ปีหลังจากการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรายละเอียดการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังไม่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบังคับใช้สำหรับเหมืองใหม่หรือมีผลย้อนหลัง หรือการบังคับใช้จะมีผลครอบคลุมผู้ได้รับสัญญาสัมปทานทุกประเภทหรือไม่ เป็นต้น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่า BANPU จะยังคงรักษาสถานะทางการเงินที่เหมาะสมในระหว่างการขยายธุรกิจถ่านหิน ทั้งนี้ การทำสัญญาขายถ่านหินล่วงหน้ากับลูกค้าหลายรายจะช่วยลดผลกระทบจากราคาถ่านหินที่อ่อนตัวลงได้ในปัจจุบัน