วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมี นายเมธี ครองแก้ว เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนการสอบข้อเท็จจริงกรณีการทำสัญญาการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ในโครงการ 3จี เอชเอสพีเอ ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) กับ บมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) จะมีการประชุมเพื่อสรุปผลการเซ็นสัญญาดังกล่าวก่อนส่งให้คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่เป็นผู้ตัดสิน
อย่างไรก็ตาม จากการประชุมเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าสัญญาดังกล่าวมีความผิดปกติจริง แต่ด้วยรายละเอียดและเอกสารจำนวนมาก และมีความเห็นไม่ตรงกัน ทั้งข้ออธิบายที่มียังไม่มีน้ำหนักหรือความหนาแน่นเพียงพอจะชี้ความผิดพลาดว่าอยู่ในระดับไหน จึงได้มีมติให้มีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ค.55
นายเมธี กล่าวว่า ข้อมูลที่ไต่สวนมาถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่ยังต้องให้เวลาคณะอนุกรรมการได้พิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ ซึ่งในการประชุมวันนี้จะเน้นเรื่องของความถูกต้องและระดับของความผิด โดยเฉพาะประเด็นการใช้อำนาจตามมาตรา 46 พ.ร.บ. กสทช. การให้เอกชนเข้ามาร่วมงาน การไม่มีการเปิดประมูล และการกระทำที่อาจจะผิดกฎหมายผูกขาด
"คณะอนุฯ จะต้องส่งสรุปผลให้กับบอร์ดใหญ่อีกครั้ง ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ อนุฯ จะไม่มีอำนาจในการชี้มูลความผิดของสัญญาใดๆ ตามกฏหมาย แต่บอร์ดใหญ่จะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งหมด"นายเมธี กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงข่าวหลังได้รับเอกสารสัญญาซื้อขายระหว่าง กสทฯ และ กลุ่ม บริษัท ฮัทชิสัน เทเลคอม ประเทศฮ่องกง ซึ่งทำขึ้นเพื่อให้กสทฯ ซื้อกิจการของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย (ฮัทช์) มูลค่า 7,000 ล้านบาท แต่มีข้อสงสัยว่าถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองสั่งให้ฉีกสัญญาทิ้ง เพื่อเปิดทางให้กลุ่ม TRUE เข้าซื้อกิจการฮัทช์ แทนในราคา 6,300 ล้านบาท
สัญญาดังกล่าว คือ สัญญาซื้อขายกิจการระหว่าง บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) บริษัท ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ บริษัท ฮัทชิสัน มัลติมีเดีย เซอร์วิส ในฐานะผู้ขาย และ บริษัท ฮัทชิสัน เทเลคอม อินเตอร์เนชั่นแนล กับ กสทฯ ในฐานะผู้ซื้อ ลงวันที่ 31 พ.ค.2553 โดยมีนายจีรายุทธ รุ่งศรีทอง อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่กสทฯ เป็นผู้เซ็น แต่ไม่ได้ถูกดำเนินการต่อในเรื่องการซื้อขาย ดังนั้น กระทรวงไอซีทีจึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
สำหรับความคืบหน้าของ DSI นั้นอยู่ระหว่างสืบหาพยานทั้งหมดว่าสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นและมีอยู่จริง และสอบข้อเท็จจริงว่าเหตุใดเซ็นแล้วจึงถูกยกเลิกและเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดบ้าง ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าภายในเดือนนี้ ทั้งนี้ หากพบว่าสัญญาดังกล่าวผิดจะเข้าข่ายผิดกฎหมายฟอกเงินระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่การกระทำผิดที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาเกี่ยวข้องจะต้องส่งเรื่องให้กับ ป.ป.ช. เป็นผู้ส่งฟ้องต่อไป
ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ กล่าวว่า คณะกรรมการ กสทฯ มีมติให้นำสัญญาการให้บริการ 3 จี ระหว่าง กสทฯ และ กลุ่ม TRUE ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าการทำสัญญาดังกล่าวที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.องค์กรกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม หรือ พ.ร.บ.กสทช. เป็นการทำสัญญาที่ถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ ผลสรุปดังกล่าวให้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีทีในวันที่ 8 พ.ค. ตามกำหนดระยะเวลา 15 วัน ที่สั่งให้กสทฯ ดำเนินการหลังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของไอซีทีได้สรุปแล้วว่าการทำสัญญาดังกล่าวมีมูลความผิด 5 ประเด็นหลักจากกฎหมายและประกาศรวม 9 ฉบับ
นอกจากนี้ กสทฯ ยังได้นำเสนอความเห็นเพิ่มเติมต่อไอซีทีว่า สัญญาดังกล่าวเข้าข่ายขัดมาตรา 46 พ.ร.บ.กสทช. เพราะแม้ทรูจะระบุว่าเป็นการเช่าใช้โครงข่ายจากกสทฯ แต่ขณะนื้กสทฯ ไม่สามารถมีสิทธิเข้าไปดำเนินการใดๆ ในสถานีฐานของกสทฯ ได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างไรก็ตาม ทาง TRUE ได้เคยชี้แจงทั้ง 2 ประเด็นว่าสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากการให้บริการ 3จี เป็นไปในรูปแบบการเช่าใช้โครงข่ายของบริษัท บีเอฟเคที ไม่ได้โอนสิทธิ์ให้ทรูบริหารคลื่นความถี่แต่อย่างใด จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.กสทช.ส่วนในประเด็นพ.ร.บ. ร่วมทุน
ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการพิจารณาตรวจสอบสัญญาต่างๆ แล้วว่าไม่ได้เข้าเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตาม พรบ.ร่วมทุนเพราะโครงการนี้ไม่เข้านิยามคำว่ากิจการของรัฐ จากสาเหตุที่กสทฯ แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.เช่นเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่น