บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เดินหน้าเร่งพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เดินทางมาใช้บริการเพิ่มขึ้นตามวิสัยทัศน์ของ ทอท.ที่จะเป็นผู้นำธุรกิจท่าอากาศยานในภูมิภาคเอเชีย
ว่าที่เรืออากาศโท อนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการ ทสภ.เฉลี่ย 51 ล้านคนต่อปี ทำให้การจราจรทางอากาศที่ ทสภ.ค่อนข้างหนาแน่นและผู้โดยสารแออัดในอาคารผู้โดยสาร ทอท.ได้เร่งดำเนินการโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันได้ดำเนินการโครงการพัฒนา ทภก.ให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
สำหรับโครงการพัฒนา ทสภ.แบ่งเป็นการก่อสร้างในส่วนต่างๆ คือ ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 บนพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร มีหลุมจอด 28 หลุมจอด และใน 28 หลุมจอดนี้ มี 8 หลุมจอด สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A380 ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในปัจจุบันนี้ และก่อสร้างลานจอดอากาศยาน มีพื้นที่ 960,000 ตารางเมตร รวมทั้งการก่อสร้างส่วนขยายอุโมงค์ด้านทิศใต้ โดยจะติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1
นอกจากนั้น การขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก ขนาดพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี ทั้งยังก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก ด้านหน้าของอาคารจะเป็นอาคารสำนักงานสูง 4 ชั้น มีพื้นที่ 35,000 ตารางเมตร ด้านหลังจะก่อสร้างอาคารที่จอดรถสูง 6 ชั้น (รวมดาดฟ้า 1 ชั้น) สามารถจอดรถได้ 1,000 คัน
ทั้งนี้ โครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 มีระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับจำนวนการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและ ทอท.ยังได้มีการวางแผนการขยาย ทสภ.เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารในอนาคตซึ่งปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อให้สามารถรองรับการจราจรทางอากาศในอนาคตได้อย่างเพียงพอและ มีประสิทธิภาพ จากเดิมสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6.5 ล้านคนต่อปี เมื่อโครงการพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2558 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี โดยมีโครงการจะสร้างลานจอดอากาศยานและทางขับเพิ่ม 1 เส้น ขนาดพื้นที่ 114,000 ตารางเมตร ตลอดจนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (หลังใหม่) นอกจากนั้น ทอท.จะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารปัจจุบันให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งออกแบบให้มีลักษณะเหมือนคลื่นน้ำให้เข้ากับทัศนียภาพที่ติดกับทะเล รวมทั้งได้ออกแบบให้ตัวอาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ว่าที่เรืออากาศโท อนิรุทธิ์ กล่าวว่า ถึงแม้ ทอท.จะเดินหน้าพัฒนาท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การบริหารให้สามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้เพิ่มมากขึ้น โดยตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงได้ออกแบบโครงการอาคารผู้โดยสารตามแนวคิดอาคารอนุรักษ์พลังงานให้มีรูปทรงให้แสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาในอาคาร ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้กว่า 50% และยังนำระบบทำความเย็นที่ใช้พลังงานความร้อนที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้ามาผลิตน้ำเย็นเพื่อทำความเย็นให้กับอาคารผู้โดยสารที่ตรงกับนโยบายของ ทอท.ที่จะนำท่าอากาศยานไทยมู่งไปสู่การเป็นท่าอากาศยานระดับโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (World Class Green Airport)