นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกฯ กล่าวว่า กรณีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร(กทม.) ขยายอายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายให้กับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) อาจเข้าข่ายความผิดอาญากรณีหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสได้
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้บริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และผู้บริหาร บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ได้เซ็นสัญญากับผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(กรุงเทพธนาคม) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดย กทม. ในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า (ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เปิดให้บริการเป็นต้นไป) ระยะทางรวม 7.50 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทางรวม 5.25 กิโลเมตร และรวมเส้นทางเดิมของสัมปทานภายหลังครบกำหนดอายุสัมปทานในวันที่ 4 ธันวาคม 2572 ระยะทางรวม 23.50 กิโลเมตร
ทั้งนี้ การให้บริการเดินรถจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585 โดย BTSC จะได้รับค่าจ้างรายปี(ชำระให้เป็นรายเดือน) จากกรุงเทพธนาคมสำหรับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลา 30 ปี
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า กทม.อ้างว่าสัญญาดังกล่าวจะช่วยให้ กทม.สามารถคงมาตรฐานที่ดีในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร และทำให้การบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้ผู้ที่มีประสบการณ์เป็นผู้บริหารระบบทั้งเส้นทางเดิมของสัมปทานและส่วนต่อขยายเพียงรายเดียว เพราะ BTSC สามารถดูแลการลงทุนด้านการจัดหาขบวนรถเพิ่มเติมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการมีสัญญาการให้บริการเดินรถระยะยาวนี้ เพราะสามารถวางแผนล่วงหน้าเพื่อจัดหาขบวนรถเพิ่มได้ทันการและสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร และมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตมากขึ้นตามปริมาณที่เพิ่มขึ้นของขบวนรถที่จะต้องจัดหาระยะยาว ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนี้ก็จะตกแก่ผู้โดยสาร นอกเหนือไปจากการได้รับความสะดวกจากโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางขึ้น
แต่โครงการที่เอกชนจะเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท จึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ..ย.52 คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีคำวินิจฉัยกรณี รฟม.ต้องการว่าจ้างให้เอกชนเข้ามาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่หากเอกชนมีการลงทุน เช่น การจัดหาขบวนรถ ก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน กทม.ต้องเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) กำหนด เสนอมาให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาก่อน
"การต่ออายุสัญญาล่วงหน้าเป็นเวลานานนั้นย่อมมีความเสี่ยงสูง เพราะมีตัวแปรหลายอย่างที่ยังไม่รู้ล่วงหน้า จึงเป็นไปได้ยากที่เอกชนจะยอมรับความเสี่ยงเหล่านั้น ซึ่งในที่สุดก็จะผลักภาระมาให้รัฐบาลรับผิดชอบ" นายอนุสรณ์ กล่าว