บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (RATCHGEN) ที่ระดับ “AA" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนการมีโรงไฟฟ้าราชบุรีที่มีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่งและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงประสบการณ์ที่ยาวนานและผลงานในการบริหารโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงระดับการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ลดลงของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนของบริษัทจากการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวถือว่ามีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทเพียงเล็กน้อย
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า RATCHGEN จะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากรายได้ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าราชบุรี นอกจากนี้ ยังคาดว่าโรงไฟฟ้าย่อยต่าง ๆ จะยังคงดำรงความพร้อมจ่ายและผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า RATCHGEN เป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้น 45% โดย กฟผ. RATCHGEN เป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producer — IPP) รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โรงไฟฟ้าราชบุรีของบริษัทประกอบด้วยหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังความร้อน 2 หน่วยและหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle Gas Turbine — CCGT) 3 หน่วย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 3,645 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับ 12% ของกำลังการผลิตติดตั้งรวมของประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2555 ปัจจุบันบริษัทขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) ระยะเวลา 25 ปี และซื้อก๊าซธรรมชาติจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ภายใต้สัญญาขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement — GSA) ระยะเวลา 25 ปี
ในปี 2554 หน่วยผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในโรงไฟฟ้าราชบุรียังคงดำเนินงานดีกว่าเป้าหมาย โดยสามารถดำรงค่าความพร้อมจ่ายเฉลี่ยที่ระดับ 90.1% และอัตราความร้อนในการผลิตไฟฟ้าที่ระดับ 7,222 บีทียูต่อหน่วย (BTU/kWh) ในขณะที่หน่วยผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนสามารถดำรงค่าความพร้อมจ่ายให้อยู่ในระดับสูงที่ 87.8% ด้วยอัตราความร้อนที่ 10,060 บีทียูต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 ระดับการจ่ายไฟฟ้าของหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนและหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอยู่ในระดับต่ำที่ 28.1% และ 65.9% ตามลำดับ ระดับการจ่ายไฟฟ้าที่ต่ำเป็นผลมาจากความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงและการมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาในระบบ ทั้งนี้ ระดับการจ่ายไฟฟ้าที่ลดลงมิได้ส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทเนื่องจากกำไรสุทธิส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ค่าความพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้า (Availability Payment — AP)
ในปี 2554 RATCHGEN มีรายได้จากการขายไฟฟ้าลดลง 2.1% เป็น 41,205 ล้านบาท ในขณะที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 7.2% เป็น 4,092 ล้านบาท กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่รายได้ค่า AP เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ใน PPA ในขณะที่รายได้ค่าพลังงาน (Energy Payment — EP) ที่ลดลงมิได้ทำให้ผลกำไรของบริษัทลดลงแต่อย่างใดซึ่งเป็นผลมาจากกลไกการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิง
กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 9,226 ล้านบาท โดยมี EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ 15.3 เท่า ในขณะที่โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นซึ่งเป็นไปตามตารางการชำระหนี้ของบริษัท โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงเป็น 39.0% ในปี 2554 จาก 44.4% ในปี 2553