บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ที่ระดับ “A" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A" เช่นกันด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาเช่าโรงงานและคลังสินค้า การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงภาคการผลิตและการลงทุนของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากภาวะอุทกภัยในไตรมาส 4 ของปี 2554
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าได้ต่อไป โดยพื้นที่เช่าที่ประสบอุทกภัยคาดว่าจะกลับมาดำเนินงานเป็นปกติได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตของการลงทุนจะส่งผลให้ความต้องการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในบริเวณที่ไม่มีปัญหาอุทกภัย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า TICON เป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศโดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้เช่าคลังสินค้าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ เดือนมีนาคม 2555 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 122 แห่ง และมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 58 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 569,716 ตารางเมตร (ตร.ม.)
ในช่วงปี 2548-2553 รายได้หลักของบริษัท (65%) มาจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ 27% ของรายได้มาจากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า ในระหว่างปี 2548-2553 บริษัทมีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจีสติคส์ (TLOGIS) ประมาณ 1,500-2,200 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลดลงเหลือ 944 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ณ เดือนมีนาคม 2555 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TICON ยังคงเป็น บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) (21.5%) กลุ่มผู้บริหารของบริษัท (7.3%) และกลุ่มซิตี้เรียลตี้ (6.4%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการใช้ทีมงานก่อสร้างของบริษัทเอง
ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากระจายตัวในทำเลต่าง ๆ 10 แห่งและคลังสินค้าให้เช่าอีก 6 แห่งโดยไม่รวมพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จากรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่าบริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทย ณ เดือนธันวาคม 2554 บริษัทและ TFUND มีส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่โรงงานให้เช่ารวม 64.6% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นอย่างมาก โดยคู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (10.6%) บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน(HEMRAJ) (12.4%) บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม(TFI) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (6.5%) และ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) (5.9%)
ถึงแม้จะมีอุทกภัยครั้งใหญ่ในปลายปี 2554 แต่รายได้ค่าเช่ารวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 3% เป็น 880 ล้านบาทจาก 851 ล้านบาทในปี 2553 การดำเนินงานของบริษัทและลูกค้าในทำเล 5 แห่งหยุดชะงักตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ค่าเช่ารวม 100 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 และต้องเลื่อนการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ออกไปเป็นปี 2555
นอกจากนี้ บริษัทยังบันทึกค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอตัดบัญชีอีก 72 ล้านบาทเนื่องจากอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงจาก 30% เป็น 20%-23% ในปี 2555-2557 ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลงเป็น 436 ล้านบาทในปี 2554 หรือลดลง 47% จากปี 2553 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 30% จากปี 2553 เป็น 1,269 ล้านบาทในปี 2554 การเลื่อนการขายสินทรัพย์ยังส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 60.4% ในปี 2554 จาก 52.5% ในปี 2553
แม้ว่าความต้องการเช่าโรงงานและคลังสินค้าในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดหลังน้ำท่วม แต่ความต้องการโรงงานในทำเลที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วมยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ณ เดือนมีนาคม 2555 บริษัทมีพื้นที่เช่ารวม 569,716 ตร.ม. คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เช่าสุทธิจำนวน 12,574 ตร.ม. ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 หากไม่รวมการขายอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของพื้นที่เช่าสุทธิประกอบด้วยพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทเพิ่มขึ้น 19,649 ตร.ม. ในขณะที่โรงงานให้เช่าลดลง 7,075 ตร.ม. การลดลงของพื้นที่โรงงานให้เช่าเป็นผลจากการยกเลิกสัญญาของลูกค้าในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยเป็นหลัก โดยมีลูกค้าที่ยกเลิกสัญญาจำนวน 12 รายด้วยพื้นที่เช่ารวม 27,025 ตร.ม.
การดำเนินงานของบริษัทเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับ และคาดว่ารายได้ค่าเช่าจะกลับสู่ระดับปกติได้ในครึ่งหลังของปี 2555 ความเสียหายต่อทรัพย์สินจากอุทกภัยคิดเป็นจำนวน 199 ล้านบาทและรายได้ค่าเช่าลดลง 50-60 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายส่วนใหญ่คาดว่าจะได้รับการชดเชยจากบริษัทประกันภัย
ทริสเรทติ้งคาดว่าการยกเลิกสัญญาเช่าจะลดลงในช่วงหลังจากนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ ความต้องการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ายังมีแนวโน้มเติบโตดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยในไตรมาส 1/2555 มีโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่ารวมสูงถึง 231,000 ล้านบาท (รวมโครงการที่ประสบอุทกภัยมูลค่า 25,717 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง 107% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความต้องการพื้นที่เช่าของบริษัทมากขึ้นโดยเฉพาะในทำเลที่ไม่มีปัญหาอุทกภัย
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะลดลงในปี 2555-2556 หากบริษัทสามารถขายสินทรัพย์มูลค่า 4,200 ล้านบาทเข้ากองทุนได้ในปี 2555 เนื่องจากสินทรัพย์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่าสินทรัพย์ปกติที่บริษัทขายถึง 2 เท่า