กสทช.คาด 15 พ.ค. สรุปรูปแบบประมูลไลเซ่นส์ 3G คลื่นใหม่จาก 3 แนวทาง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 11, 2012 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า เบื้องต้น กสทช.ได้วางแนวทางการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซตามรูปแบบที่หลายประเทศใช้กัน โดยแนวทางที่เหมาะกับประเทศไทยจะพิจารณาจาก 3 รูปแบบหลัก ซึ่งจะเน้นการทำให้เกิดแข่งขันในตลาดมากที่สุด และสร้างประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่น เพราะใบอนุญาต 3จีของไทยมีอายุถึง 15 ปี

ทั้งนี้ กสทช.จะนำเรื่องรูปแบบการประมูลคลื่น 3จี บอร์ด กทค จะสรุปรูปแบบในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ก่อนส่งที่ประชุมบอร์ด กสทช.พิจารณาในวันที่ 16 พ.ค.นี้

สำหรับ 3 รูปแบบของการประมูล 3 จี ที่ กทค.จะนำมาพิจารณา นั้น กสทช.ได้เชิญนายพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญและให้คำแนะนำการออกแบบการประมูล บริษัท Cramton Associates ประเทศสหรัฐอเมริกา มาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์หลักของการประมูลคลื่นความถี่หลักๆ ของ กสทช.

รูปแบบที่ 1.คือ Simultaneous ascending bid auction เป็นรูปแบบการประมูลที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการประมูลแบบเสนอราคาแข่งขันไปเรื่อยๆ โดยผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ และผู้ร่วมประมูลต้องเสนอราคาเพื่อรักษาสิทธิ์ของตนทุกรอบ โดยบางประเทศจะมีการเปิดเผยชื่อผู้ประมูลและราคาที่ประมูลระหว่างแข่งขัน ซึ่งวิธีนี้ใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ 4จี ของโปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี และเป็นรูปแบบการประมูลที่ประเทศไทยจะใช้ในการประมูล3จี ครั้งที่แล้ว แต่จะไม่เปิดเผยราคาและชื่อผู้ประมูล

ข้อดีในรูปแบบนี้คือ มีความเข้าใจง่าย มีประสิทธิภาพสูงถ้าผู้ประมูลมีจำนวนของคลื่นความถี่ที่ต้องการอยู่ในใจแล้ว มีการนำไปใช้ในการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในหลายประเทศ ส่วนข้อเสียคือ ลดความต้องการในการประมูลถ้าผู้ประมูลไม่มีจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องการอยู่ในใจ

2.รูปแบบการประมูล Simultaneous ascending clock auction มีผลจากกรณีศึกษา ที่ประเทศอินเดีย ใช้การประมูลแบบเน้นเรื่องราคา (Pricing rule) ซึ่งต้องการนำรายได้เข้ารัฐมากๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่นต่ำลง

และ 3.รูปแบบ Package Clock Auction เป็นรูปแบบการประมูลที่ใหม่ที่สุด โดยผู้ประมูลสามารถยื่นราคาประมูลของแต่ละแพคเกจและสามารถยื่นประมูลกี่แพคเกจก็ได้ ซึ่งประเทศที่ใช้การออกแบบประมูลวิธีนี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปข้อดีของการประมูลแบบนี้ คือ เป็นวิธีการประมูลแบบตรงไปตรงมา ไม่เกิดปัญหาการลดความต้องการและความเสี่ยง มีประสิทธิภาพ แต่ข้อเสียคือ มีความซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องของการออกแบบ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการประมูลแล้วพบว่า การประมูลใบอนุญาตแบบล็อตละ 5 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 9 ล็อต ทำให้มีปริทธิภาพสูงที่สุด และช่วยกระตุ้นการร่วมประมูลจากผู้เล่นรายใหม่ๆ แต่มีข้อเสียคือ มีความซับซ้อนทั้งการออกแบบและการนำไปปฏิบัติ

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่บอร์ดกทค.สรุปแนวทางในการประมูลในวันที่ 15 พ.ค.นี้แล้วว่าจะเลือกรูปแบบใด จากนั้นช่วงต้นเดือน มิ.ย.จะสามารถกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูล ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศขึ้นเว็บและดำเนินการตามกระบวนการในการประมูล โดยยังมั่นใจว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในช่วงไตมาส 3/55 นี้

หลังจากที่คุยกับผู้ให้บริการมือถือในไทย ทุกรายมีความเห็นที่ตรงกันกับแนวทางการแบ่งการประมูลออกเป็น 9 ล็อต เนื่องจากการประมูลรูปแบบ N-1 เป็นวิธีที่กีดกันการแข่งขันของรายโดยรายเล็กก็จะไม่มีสิทธิที่จะได้เข้าร่วมประมูล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ