ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กลดลงปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบประมาณหนึ่งเดือนเมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) หลังจากที่หุ้นกลุ่มการเงินถูกเทขายอย่างหนักจนฉุดทั้งตลาดร่วงลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่สุดของสหรัฐเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ธนาคารขาดทุนเป็นจำนวนมากจากการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยข่าวดังกล่าวบดบังข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นบวกอย่างดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนเม.ย.ที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 34.44 จุด หรือ 0.27% ปิดที่ 12,820.60 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. ขณะที่ดัชนี S&P 500 ลดลง 4.60 จุด หรือ 0.34% ปิดที่ 1,353.39 จุด ส่วนดัชนี Nasdaq ขยับขึ้น 0.18 จุด หรือ 0.01% ปิดที่ 2,933.82 จุด จากอานิสงส์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้น
ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงราว 1.7% ดัชนี S&P 500 ลดลง 1.1% และดัชนี Nasdaq ลดลงกว่า 0.7%
หุ้นกลุ่มการเงินทรุดตัวลงอย่างรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมีท่าทีระมัดระวังเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่การกำกับดูแลด้านการเงินจะเข้มงวดขึ้น ภายหลังจากที่เจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐออกมาเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ธนาคารขาดทุนอย่างไม่คาดคิดจากการทำธุรกิจเทรดดิ้งเป็นวงเงินทั้งสิ้น 2 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรที่ผิดพลาดในตราสารอนุพันธ์ของ Chief Investment Office ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านบริหารความเสี่ยงของเจพี มอร์แกน
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาวุ่นวายทางการเมืองในกรีซด้วย โดยนักลงทุนยังคงจับตาดูสถานการณ์ในยุโรป ขณะที่พรรคการเมืองของกรีซกำลังพยายามทำข้อตกลงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม
หุ้นเจพีมอร์แกน ดิ่งลงมากกว่า 9% ส่วนหุ้นแบงก์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ซิตี้กรุ๊ป, โกลด์แมน แซคส์ และแบงก์ ออฟ อเมริกา ต่างก็ร่วงหนักเช่นกัน
ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ได้ดีดตัวขึ้นสู่แดนบวกอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากที่รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนพ.ค.พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงช่วยฟื้นสถานะการเงินในภาคครัวเรือนและกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่มีการเปิดเผยวานนี้ ขยายตัวสู่ระดับ 77.8 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2551 จากระดับ 76.4 จุดในเดือนเม.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงแตะระดับ 76 โดยประมาณ
ข้อมูลที่ออกมาเป็นบวกนี้ช่วยหนุนตลาดหุ้นนิวยอร์กให้ปรับตัวขึ้นในช่วงแรกของการซื้อขาย อย่างไรก็ตาม ตลาดไม่สามารถพยุงตัวให้อยู่ในแดนบวกต่อไปได้จนกระทั่งปิดตลาด
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งใช้ประเมินการเปลี่ยนแปลงของราคาก่อนที่จะไปถึงมือผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. อันเนื่องมาจากการร่วงลงของราคาเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม ดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน ปรับตัวขึ้น 0.2%