ทริส คงอันดับเครดิตองค์กร TISCO ที่ระดับ “A-/Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 14, 2012 10:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตสะท้อนฐานะการเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในกลุ่มทิสโก้ ตลอดจนอำนาจการบริหารงานและผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอผ่านการถือหุ้น 99.98% ในธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้อยู่ 1 ขั้นซึ่งสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่พึ่งพารายได้เงินปันผลจากธนาคารทิสโก้เป็นหลักและมีข้อจำกัดจากกฎเกณฑ์การจ่ายเงินปันผล

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีความสามารถและมีประสบการณ์ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี แหล่งที่มาของรายได้ซึ่งมีการกระจายตัว และความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงในการระดมเงินทุนที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากในเดือนสิงหาคม 2555

อันดับเครดิตยังได้รับแรงกดดันจากสัดส่วนภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการขยายตัวของสินทรัพย์ ตลอดจนภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจำกัดโอกาสในการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มทิสโก้ได้ในอนาคต

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนการคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ในระยะกลาง นอกจากนี้ ยังสะท้อนระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงในช่วงภาวะธุรกิจขาลงจากความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจและการเงินในอนาคตได้ ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่อาจสูงขึ้น รวมทั้งฐานเงินฝากที่อาจมีการเคลื่อนไหวภายหลังกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคม 2555 นี้ยังคงเป็นปัจจัยกังวล ทั้งนี้ อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับสถานะอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้เป็นสำคัญ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ในปี 2551 กลุ่มทิสโก้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรโดยได้จัดตั้ง TISCO ขึ้นมาให้มีสถานะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนและเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มทิสโก้แทนธนาคารทิสโก้ ณ เดือนธันวาคม 2554 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทได้แก่ CDIB & Partners Investment Holding Pte Ltd. ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 10% ส่วนที่เหลือถือหุ้นโดยนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2554 บริษัทมีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 10 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.3% และของเงินฝาก 0.5% บริษัทมีสินทรัพย์ในปี 2554 รวมทั้งสิ้น 220.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จาก 171.4 พันล้านบาทในปี 2553

รายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวดีขึ้นโดยมีสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 2554 คิดเป็น 19% ของรายได้รวม ในขณะที่ค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่งอยู่ที่ 17% ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทมาจากรายได้ของบริษัทย่อยได้แก่ ธนาคารทิสโก้ในสัดส่วนสูงสุดคิดเป็น 85% ของรายได้ดอกเบี้ยรวมรายได้ค่าธรรมเนียม ส่วนที่เหลืออีก 15% มาจากบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด และบริษัท ไฮเวย์ จำกัด

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า TISCO ยังคงมีความสามารถในการทำกำไรในระดับที่ดี ทั้งนี้ กำไรสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้น 13% จาก 2.9 พันล้านบาทในปี 2553 เป็น 3.3 พันล้านบาทในปี 2554 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยสำหรับปี 2554 เท่ากับ 1.7% และ 21.0% ตามลำดับซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 1.9% และ 21.1% ในปี 2553 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่งที่ระดับ 1.3% และ 12.8% ในปี 2554 บริษัทมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและการแข่งขันระดมเงินทุนที่ค่อนข้างรุนแรง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถคงผลประกอบการในระดับที่ดีไว้ได้ด้วยการควบคุมต้นทุนการตั้งสำรองหนี้สูญและต้นทุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

ในด้านคุณภาพของสินทรัพย์นั้น TISCO มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีด้วยการบริหารความเสี่ยงแบบรวมกลุ่มและเป็นแบบรวมศูนย์ซึ่งส่งผลให้สินทรัพย์ของบริษัทยังคงมีคุณภาพดี โดย ณ สิ้นปี 2554 บริษัทมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็น 1.2% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย นอกจากนี้ บริษัทยังคงดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วย เงินให้สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) ในปี 2554 บริษัทมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคิดเป็น 0.15 เท่าของเงินกองทุนซึ่งรวมสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ปรับตัวดีขึ้นจาก 0.19 เท่าในปี 2553 อีกทั้งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระบบซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.51 เท่า

TISCO ได้พัฒนาคุณภาพบุคลากรด้านบริหารจนมีความเชี่ยวชาญและมีวิธีการบริหารงานแบบระมัดระวังซึ่งทำให้บริษัทสามารถให้การสนับสนุนบริษัทย่อยให้สามารถดำรงสถานะทางการแข่งขันเอาไว้ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารความเสี่ยงแบบรวมกลุ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์อาจเป็นปัจจัยที่จำกัดการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มทิสโก้ได้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ