นายพีระวัฒน์ พุ่มทอง รองกรรมการผุ้จัดการใหญ่ วางแผนและพัฒนาธุรกิจ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุน 7 พันล้านบาท นำไปใช้ขยายฐานธุรกิจทั้งในประเทศ , ลาว, ออสเตรเลีย และ กัมพูชา
และ คาดว่า รายได้และกำไรในปี 55 จะสูงกว่าปีก่อน ที่มีรายได้ 4.57 หมื่นล้านบาท และ กำไรสุทธิ 4.8 พันล้านบาท เนื่องจากจะมีการรับรู้กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาในปีนี้ ได้แก่ โครงการโซลาต้า โครงการเสาเถียร-เอ โครงการโซลาร์เพาเวอร์ โคราช 3, 4, 7 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 3 โครงการโรงไฟฟ้าที่ออสเตรเลีย ที่ลงทุนผ่าน RAC
ทั้งนี้ ในส่วนการลงทุนในลาวจะดำเนินการผ่านบริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด เป็นช่องทางขยายการลงทุนสู่ธุรกิจไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายในลาว ซึ่งขณะนี้มี 2-3 โครงการที่กำลังศึกษาความเหมาะสม
นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าพิจารณาโครงการ ที่ได้ลงทุนแล้ว อาทิเช่น โครงการโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนงานด้านเหมืองคืบหน้ามาก และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในปี 58 ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย คาดว่าในปีนี้จะมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
สำหรับประเทศออสเตรเลีย บริษัทมีแผนซื้อหุ้น RAC เพิ่มเป็น 80% ภายใน ก.ค. 55 จากปัจจุบันถือหุ้น 67.9% บริษทยังมีเป้าหมายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ผ่านทาง RAC ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ 3 โครงการ รวมกำลังการผลิตประมาณ 200 เมกะวัตต์ ส่วนในประเทศกัมพูชา บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก กำลังการผลิตรวมประมาณ 2 พันเมกะวัตต์
ด้านแผนการขยายธุรกิจในประเทศไทย บริษัทยังคงมุ่งลงทุนเพิ่มในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ตามนโยบายส่งเสริมของรัฐบาล รวมทั้งจะมีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ ความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ เพื่อช่วยรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ และในปีนี้โครงการผลิตไฟฟ้านวนครจะลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.
นอกจากนี้บริษัทยังได้เตรียมพร้อมด้านการเงินสำหรับซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัท EDL-Gen ด้วย โดยบริษัทได้เตรียมเงินลงทุน ไม่เกิน 1 พันล้านบาท ใช้สำหรับซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท EDL-Gen จำกัด ที่จะมีการเสนอขายในเร็วๆนี้ เพื่อเป็นการรักษาสัดส่วนถือหุ้น EDL-Gen ไว้ที่ 10%
สำหรับการเข้าซื้อเหมืองถ่านหินในออสเตรเลีย คาดว่าบริษัทจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ โดยเบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าจะเข้าถือหุ้นขั้นต่ำ 20% โดยเหมืองดังกล่าวจะต้องมีปริมาณสำรองถ่านหินมากกว่า 100 ล้านตัน ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะนำถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสำหร้บโรงไฟฟ้าที่พัฒนาในต่างประเทศทั้งในกัมพูชาและพม่า นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียด้วย
นายพีระพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าโครงการโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรทวายในพม่าจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ตามแผนเดิมโรงไฟฟ้าในระยะแรกมีกำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างในปี 56 แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับโรงงานที่จะเข้าไปตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในทวาย
"พม่า ไม่ได้ห้ามขายไฟกลับมาเมืองไทย แต่ในระยะแรกคงขายไฟภายในนิคมฯก่อน นี่คือจุดประสงค์หลัก และถ้าเหลือจากการใช้ในนิคมฯแล้ว ในอนาคตก็อาจนำมาขายในประเทศไทยได้ แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกันอีกที เชื้อเพลิงที่เป็นถ่านหินก็ยังทำได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย แต่เราก็ศึกษาเชื้อเพลิงอื่นด้วยเช่นกัน อย่างเช่น oil & gas" นายพีระพัฒน์ กล่าว
ในปี 55 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งจากโครงการลงทุนที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ รวม 5,489.18 เมกะวัตต์ และหากรวมทุกโครงการที่บริษัทมีพันธะการลงทุนแล้วจะทำให้มีกำลังการผลิตรวม เป็น 6,684 เมกะวัตต์