(เพิ่มเติม) "เอื้อวิทยา"เคาะราคา IPO ที่ 1.80 บ./หุ้น ขายมิ.ย. คาดเทรด mai ต้นก.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 14, 2012 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชูพงษ์ ธนเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจวาณิชธนกิจ บล.คันทรี่ กรุ๊ป (CGS) ในฐานะผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บมจ.เอื้อวิทยา(UWC)เปิดเผยว่า กำหนดราคาหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ UWC ที่หุ้นละ 1.80 บาท โดยจะเสนอขายให้ประชาชนทั่วไปวันที่ 18-20 มิ.ย.55 หลังจากเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม บมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค(CEN) ในวันที่ 11-14 มิ.ย. 55

ทั้งนี้ การตั้งราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 1.80 บาท มีค่าพี/อี เรโชประมาณ 12 เท่า ถือเป็นส่วนลดประมาณ 30% เมื่อเทียบกับพี/อี เรโชของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 19 เท่า คาดว่าหุ้นของ UWC จะเข้าซื้อขายในตลาด เอ็ม เอ ไอ ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.ค.

อนึ่ง ราคาหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ UWC อยู่ที่หุ้นละ 1.80 บาท จำนวน 99.496 ล้านหุ้น โดยจะเสนอขายให้ประชาชนทั่วไปวันที่ 18-20 มิ.ย.55 ไม่ต่ำกว่า 71.196 ล้านหุ้น หลังจากเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม บมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค (CEN) ในวันที่ 11-14 มิ.ย. 55 จำนวน 28.3 ล้านหุ้น

นายโอฬาร รัตนปราการ กรรมการผู้จัดการ UWC เปิดเผยว่า ในปี 55 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 1 พันล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% จากปีก่อน โดยเป็นการรับรู้รายได้จากงานในมือ(backlog ที่มีปัจจุบันมีกว่า 520 ล้านบาท และงานที่เตรียมเข้ายื่นประมูลใหม่เป็นมูลค่ารวมกว่า 3.8 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะได้งานใหม่ไม่ต่ำกว่า 40% ของมูลค่าที่ร่วมประมูล

"รายได้ในช่วงไตรมาส 1 จะยังน้อย แต่คาดว่ารายได้จะมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ซึ่งเป็นไปตามปริมาณงานจาก กฟผ." นายโอฬาร กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทมีความสนใจที่จะขยายการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งลาวที่มีโครงการสร้างเขื่อนหลายแห่ง รวมถึงพม่าที่กำลังเปิดประเทศ และมีการสร้างเขื่อน แต่อาจต้องแข่งกับผู้รับเหมาจากจีนด้วย อย่างไรก็ตาม การขยายงานในต่างประเทศ อาจดำเนินการในรูปแบบร่วมกับพันธมิตรที่เป็นผู้รับเหมาหลัก

สำหรับเงินที่ระดมได้จากการขายหุ้น IPO จำนวน 99.496 ล้านหุ้น จัดสรร 30% เพื่อนำไปใช้ในการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อขยายกำลังการผลิต จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 2.4 หมื่นตัน/ปี และมีการใช้กำลังการผลิตประมาณ 50% และคาดว่าในปีนี้การใช้กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 70-80% ส่วนเงินที่เหลือ 70% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อซื้อวัตถุดิบรองรับคำสั่งซื้อในอนาคต

"เงินที่ระดมได้จะนำไปจัดซื้อเครื่องจักรเพื่ดทดแทนเครื่องจักรเก่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่การผลิตจะมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนมากขึ้น" นายโอฬาร กล่าว

นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง ประธานกรรมการบริหาร UWC กล่าว่า บริษัทตั้งเป้าปีนี้จะมีอัตรากำไรขั้นต้น อยู่ที่ 20% และมีแผนจะขยายธุรกิจจากปัจจุบันงานหลักเป็นสายส่งไฟฟ้า ไปขยายงานโครงเหล็กทั่วไป ซึ่งจะดำเนินธุรกิจคล้ายกับบมจ.เอ็ม ซี เอส โดยปัจจุบันมีงานโครงเหล็กของสนามฟุตซอลที่หนองจอก และจะธุรกิจโครงเหล็กมากขึ้น

บมจ.เอื้อวิทยา ดำเนินธุรกิจรับผลิตเสาโครงเหล็ก ประเภทเสาโครงเหล็กสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เสาโครงเหล็กโทรคมนาคม เสาโครงเหล็กสถานีไฟฟ้าย่อย งานโครงเหล็กทั่วไป โดยปัจจุบัน CEN ถือหุ้นอยู่ 90.98% และภายหลังการขายหุ้น IPO สัดส่วนจะลดเหลือ 65.12%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ