GBX คาดทองลงแตะ 1,520 ดอลล์/ออนซ์ แนะเปิดสถานะ Short โกลด์ ฟิวเจอร์ส

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 14, 2012 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์(GBX) ประเมินราคาทองอาจลงครั้งละ 20 ดอลลาร์ถึง 3 ครั้ง เชื่อต่ำสุด 1,520 ดอลล์/ออนซ์ ชี้คนเตรียมเข้าเล่นตามปัจจัยประชุม FOMC และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชี้ลงทุนแค่ 1 ใน 3 ของพอร์ตลงทุน ส่วนคนถือหากราคาเด้งถึง 1,600 ดอลลาร์ให้ขายออกก่อน แนะเปิดสถานะ Short โกลด์ ฟิวเอจร์สลดเสี่ยง

นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต กรรมการผู้จัดการ GBX เปิดเผยถึงแนวโน้มของราคาทองคำที่ในขณะนี้ว่า ราคาทองคำในปัจจุบันเริ่มเข้าสู่สภาวะขาลง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของดีมานด์ และซัพพลาย และที่ผ่านมาราคาที่เกิดขึ้นเป็นราคาเก็งกำไรมากกว่าการลงทุน ประกอบกับการซื้อขายยังปรับเปลี่ยนตามความกังวลและความต้องการของนักลงทุนได้อย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือทางยูโรโซนที่ส่งผลต่อราคาทองคำโดยตรง

ดังนั้น นักลงทุนที่มีทองคำอยู่ในพอร์ตลงทุน หากราคาทองคำ(spot) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ แนะนำให้นักลงทุนขายออก เนื่องจากมีโอกาสที่ราคาจะปรับลดลง แต่ถ้าต้องการถือเพื่อไม่ต้องการขายขาดทุน ทางโกลเบล็กแนะนำควรป้องกันความเสี่ยงโดยการเปิดสถานะ Short ในโกลด์ ฟิวเจอร์สที่ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ในภาวะ sideway down

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้จังหวะการปรับตัวลดลงของราคาเข้าซื้อเพื่อลงทุน หรือเก็งกำไร ควรจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนเพียง 1 ใน 3 ของพอร์ต โดยคาดการณ์ว่าราคาทองจะมีการปรับตัวลดลงครั้งละ 20 ดอลลาร์ประมาณ 2-3 ครั้ง โดยน่าจะลงมาแตะที่ระดับ 1,540 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 22,830 บาท/บาททอง และอาจลงไปที่ต่ำสุดที่ 1,520 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ หรือ 22,530 บาท/บาททอง (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 31.30 บาท/ดอลลาร์ )

อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าซื้อนักลงทุนควรติดตามปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ซึ่งคาดว่าเฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากจะเข้าสู่สถานการณ์การเลือกตั้งของสหรัฐฯจึงจำเป็นต้องให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจออกมาดี เพื่อรักษาฐานเสียงไว้ และน่าจะส่งผลต่อราคาทองคำในทางบวก เช่นเดียวกับปัจจัยเรื่องการประกาศตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานและยอดค้าปลีกพื้นฐานสหรัฐฯที่จะส่งผลต่อราคาทองคำเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ควรจับตาผลการประมูลพันธบัตรอิตาลี โดยหากผลตอบแทน(Yield) ต่ำแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการซื้อเข้ามาจากการเข้าซื้อของนักลงทุน กลับกันหาก Yield สูง แสดงให้เห็นความเสี่ยงของการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจของยุโรปยังมีปัญหา และจะส่งผลต่อราคาทองให้ปรับตัวลดลงอีกได้

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ นักวิเคราะห์ทองคำ GBX กล่าวว่า นักลงทุนยังควรติดตามปัจจัยดัชนีภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี ZEW, ยอดสร้างบ้านใหม่และยอดผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐฯที่จะทยอยประกาศออกมาทั้งสัปดาห์

ทั้งนี้ ทางโกลเบล็กมองกรอบการลงทุนทองคำในสัปดาห์นี้ 1,540-1,620 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือประมาณ 22,800-23,920บาท/บาททองคำ (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 31.30 บาท/ดอลลาร์ ) หากราคาไม่หลุด 1,560 ดอลลาร์ หรือ 23,120 บาท/บาททองคำ ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านที่ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 23,710 บาท/บาททองคำ แต่หากหลุดแนวรับที่ 1,560 ดอลลาร์/ออนซ์ มีแนวรับต่อไปที่ 1,540 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 22,800 บาท/บาททองคำได้

สำหรับราคาทองคำโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยราคาทองคำอยู่ที่ 1,579.44ดอลลาร์/ออนซ์ (ณ วันที่ 11 พ.ค.) ปรับตัวลดลงประมาณ 60 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือคิดเป็น 3.66% โดยทำจุดสูงสุดไว้ที่ 1,639.79 ดอลลาร์/ออนซ์ และทำจุดต่ำสุดไว้ที่ 1,579.44 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ตลอดวันแรกของสัปดาห์ แต่ต่อมาราคาทองคำปรับตังลงถึง 33 ดอลลาร์/ออนซ์ จากความกังวลเกี่ยวกับการเมืองของกรีซและฝรั่งเศสที่มีการเลือกตั้งใหม่โดยผู้นำคนใหม่ของฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัดและเสนอให้เยอรมนีใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแทน

นอกจากนี้ ยังกังวลเรื่องที่พรรคการเมืองกรีซไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากฐานเสียงไม่เพียงพอทำให้อาจได้รับเงินช่วยเหลือจาก EU ล่าช้าและอาจเกิดการขาดสภาพคล่องภายในปลายเดือนนี้ ส่งผลให้นักลงทุนต่างหันไปเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทองคำจึงถูกเทขายออกมา แต่ราคาทองคำ rebound กลับมาได้ในช่วยปลายสัปดาห์จากกรีซที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุน ESFS จำนวน 5.2 พันล้านยูโรถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จก็ตาม

ส่วนทาง เจพีมอร์แกน เชส เปิดเผยผลขาดทุนจากธุรกิจเทรดดิ้งเป็นวงเงินทั้งสิ้น 2 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบริษัทดังกล่าวถือเป็นผู้ค้าทองคำแท่งรายใหญ่ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในทองคำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ