(เพิ่มเติม) อนุกก.3G เตรียมเสนอให้เปิดประมูลไลเซ่นส์แบ่งเป็น 9 ล็อตในเดือน ต.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 15, 2012 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ เตรียมความพร้อมบริหารคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ของกทค. มีมติเลือกการประมูลโดยแบ่งเป็น 9 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิร์ตซ โดยกำหนดการประมูลคลื่นสูงสุดไว้ที่ 20 เมกะเฮิร์ตซ

และเลือกการประมูลแบบ Simultaneous ascending bid auction การประมูลด้วยวิธีเพิ่มราคาการประมูลทุกสล๊อตในเวลาเดียวกัน เพื่อใช้เป็นรูปแบบการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ในช่วงเดือนต.ค.นี้ โดยตัดทิ้งการประมูลแบบ N-1 แต่จะให้ผู้เข้าประมูลประมูลแข่งกันในทุกชุดพร้อมกัน

"ตามขั้นตอนหลังจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะส่งให้บอร์ด กทค.พิจารณาปลายเดือนนี้(พ.ค.) พร้อมกับราคาตั้งต้นของการประมูล ก่อนส่งให้บอร์ด กสทช.พิจารณาต่อไป หลังจากนั้นจะทำประชาพิจารณ์" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

สำหรับการประมูลรูปแบบ Simultaneous ascending bid auction เป็นรูปแบบการประมูลที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งใช้วิธีเสนอราคาแข่งขันไปเรื่อยๆ โดยผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ และผู้ร่วมประมูลต้องเสนอราคาเพื่อรักษาสิทธิของตนทุกรอบ วิธีนี้ใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ 4G ของโปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี และเป็นรูปแบบการประมูลที่ทยใช้ในการประมูล 3G ครั้งที่แล้ว แต่ต่างกันตรงที่จะไม่เปิดเผยราคาและชื่อผู้ประมูลระหว่างแข่งขัน

ข้อดีการใช้วิธีดังกล่าว คือ เข้าใจง่าย มีประสิทธิภาพสูง ถ้าผู้ประมูลมีจำนวนของคลื่นความถี่ที่ต้องการอยู่ในใจแล้ว มีการนำไปใช้ในการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในหลายประเทศ ข้อเสีย คือ ลดความต้องการในการประมูลถ้าผู้ประมูลไม่มีจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องการอยู่ในใจ

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดกิจการโทรคมนาคมยังได้อนุมัติให้บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ทดลองให้บริการเทคโนโนโลยีแอลทีอี ระยะเวลา 180 วันโดยทรูมูฟขอทดลองที่วังน้ำเขียว จ.นครนายก

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รองประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)กล่าวว่า ราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาต 3G ไม่ควรแตกต่างจากครั้งที่แล้วที่กำหนดไว้ที่ 1.25 หมื่นล้านบาทสำหรับ 15 เมกะเฮิร์ตซ หรือใบละประมาณ 4,300 ล้านบาท เนื่องจากคลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรของประเทศ รวมถึงการที่เอกชนจะโอนลูกค้าในระบบเดิมไปที่ระบบ 3G แทนการจ่ายสัมปทานให้กับรัฐ ดังนั้น ผู้ที่ได้สิทธิครอบครองควรต้องจ่ายผลตอบแทนรัฐในราคาสูง

ขณะที่นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC)กล่าวว่า ADVANC ต้องการคลื่นความถี่ 20 เมกะเฮิร์ตซเพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้ากว่า 30 ล้านราย และ ADVANC มีความพร้อมเต็มที่สำหรับการประมูลครั้งนี้

นายดามพ์ สุคนทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า การกำหนดคลื่นความถี่ที่ 20 เมกะเฮิร์ตซถือว่าเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้งานดาต้าของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งดีแทคได้เตรียมความพร้อมด้านเงินทุนเพื่อเข้าร่วมประมูลครั้งนี้อย่างเต็มที่เช่นกัน นอกจากนี้ DTACได้แต่งตั้งนายเพ็ตเตอร์ เฟอร์เบิร์ก ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงินและบัญชี มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประมูล 3G


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ