DTAC หวั่นร่างประกาศต่างด้าวฉบับปรับปรุงของกสทช.กระทบสิทธิต่างชาติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 17, 2012 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เปิดเผยว่า แม้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะปรับปรุงแก้ไขประกาศ เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2554 แต่ DTAC เห็นว่าไม่มีความจำเป็นในประกาศฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันการประกอบกิจการของคงต่างด้าวมี พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ของกระทรวงพาณิชย์กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติอยู่แล้ว

ดังนั้นจึงไม่ควรมีประกาศใดๆ ที่บังคับใช้แล้วมีผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการจำกัดสิทธิว่าห้ามต่างชาติมีส่วนในการแต่งตั้ง หรือ ควบคุม คณะกรรมการ หรือ ผู้บริหารระดับสูงได้

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. บอร์ดกสทช.มีมติเห็นชอบประกาศฉบับแก้ไข โดยการปรับปรุงดังกล่าวตัดประเด็นเรื่องการขอความเห็นจากหน่วยงานความมั่นคง และกำหนดให้ กสทช.ใช้อำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ต้องส่งเรื่องไปให้หน่วยงานภายนอกเป็นผู้ตัดสินใจแล้วบังคับให้ กสทช.ต้องปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันมิให้มีการก้าวล่วงในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.

ทั้งนี้ สาเหตุที่ตัดประเด็นเรื่องความมั่นคงออกเพราะตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ระบุชัดเจนว่า ความมั่นคงกับกิจการโทรคมนาคมเป็นคนละส่วนกัน ส่วนประเด็นการมีอำนาจของคนต่างด้าวยังคงอยู่ภายใต้กรอบของกระทรวงพาณิชย์เหมือนเดิม ซึ่งได้สอบถามไปยังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแล้วว่าร่างประกาศฉบับนี้ไม่ได้ขัดกับข้อตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศแต่อย่างใดตามที่นักวิชาการแสดงความกังวล

สำหรับประเด็นเรื่องการมีอำนาจของต่างด้าว ได้ยกเลิกคำว่า “อำนาจควบคุม" แต่ได้กำหนดนิยามคำว่า “การครอบงำกิจการ" แทน โดยให้รวมความหมาย การครอบงำกิจการผ่านคนต่างด้าว ตัวแทน หรือ ตัวแทนเชิดเข้ามาถือหุ้นไม่ว่าทางตรง หรือ ทางอ้อมเพื่อหลีกเลี่ยงประกาศฉบับนี้ และยกเลิกข้อความ การครอบงำกิจการผ่านพฤติกรรมในลักษณะอื่นใดอันมีผลเป็นการให้คนต่างด้าว หรือ ตัวแทนของคนต่างด้าว เข้ามามีอำนาจควบคุมในกิจการของผู้รับใบอนุญาต ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ