นายพันธ์เทพ จำรัสโรมรัน ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทีโอที (TOT) เปิดเผยว่า การดำเนินการในโครงการ 3 จี เฟสแรก จำนวน 5,320 สถานี มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาทที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น จะเร่งให้แล้วเสร็จ แต่จะลดการเช่าสถานีฐาน (Co-site) จากเดิม 3,000-4,000 สถานีลงเหลือแต่ส่วนที่จำเป็น ถือเป็นการประหยัดค่าเช่าที่ต้องจ่ายกว่า 1,000 ล้านบาทลง เพื่อนำเม็ดเงินดังกล่าวไปลงทุนส่วนที่เป็นทรัพย์สินของทีโอทีเอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งทำแผนใหม่เพื่อเสนอให้คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสากิจ (กนร.) รับทราบ
สำหรับอีก 1.5 หมื่นสถานีในเฟส 2 นั้น ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจากับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เพื่อนำสถานีฐาน 1.3 หมื่นสถานี (ที่เป็นทรัพย์สินของทีโอทีตามสัญญาสัมปทาน) มาให้บริการในรูปแบบการใช้สถานีฐานร่วม (Tower co) สำหรับการประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3 จี ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ รับทราบนโยบายของ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ต้องการให้ทีโอทีมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย (เน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์)อย่างเต็มตัว เบื้องต้นทีโอทีจะลงทุนโครงข่ายจำนวน 2 หมื่นสถานีฐานให้แล้วเสร็จ และครอบคลุมก่อนที่จะเปิดให้เอกชนมาเช่าใช้
"นอกจากแผนการลงทุนโครงข่าย 2 หมื่นสถานีฐานแล้ว การเปิดกว้างให้เอกชนทำตลาดยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่จะเปลี่ยนจากการให้บริการจากเอ็มวีเอ็นโอ เป็นโมเดล วีเอ็นโอ (Mobile Virtual Operator) หรือ การให้เอกชนช่วยทำตลาดในทุกธุรกิจที่ทีโอทีมีอยู่ ทั้ง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) โทรศัพท์พื้นฐานที่ปัจจุบันมีเลขหมายเหลืออยู่ถึง 1 ล้านราย" นายพันธ์เทพ กล่าว
ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจากต่างประเทศทั้งในเอเชียและยุโรปแสดงความสนใจเข้าร่วมทำตลาดให้ เหลือเพียงรอความชัดเจนจากทีโอทีเท่านั้น ซึ่งทีโอทีต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้การเป็นเน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์ จะต้องดำเนินการร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ทั้งทีโอที และ กสทฯ ต้องจัดการกับปัญหาภายในองค์กรให้เรียบร้อยก่อน หลังจากนั้น ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานจึงจะเกิดความชัดเจนและคืบหน้าไปได้