น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) คาดว่า จะเสนอแผนธุรกิจ 3จี ของบมจ.ทีโอทีให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบเพื่ออนุมัติแผนดังกล่าวไม่เกินเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้ทันกับการประมูลใบอนุญาต 3จี ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
หลังจากที่ได้มอบหมายให้บมจ.ทีโอที (TOT) ไปปรับแผนการดำเนินธุรกิจ 3จี ทั่วประเทศ หลังจากพบว่าจะประสบกับปัญหาทางด้านการเงินโดยเฉพาะไฟแนนซ์ โดยทีโอทีจะต้องมีแผนลงทุนให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ให้ทีโอทีไปปรับแผนธุรกิจ 3จี ให้สอดคล้องทั้งหมด เพื่อเสนอแผนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ(กนร.) ให้รับทราบในวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น จะต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 7 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ การที่จะต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากการติดปัญหาหลายอย่าง อีกทั้งแผนในการดำเนินงานนั้นจะต้องมีความรอบคอบและชัดเจน เพื่อที่เสนอ กนร.แล้วผ่านโดยไม่ต้องมีการแก้ไขใหม่ จึงต้องมีความรอบคอบในการปรับแผนงานดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อนำเข้าที่ประชุม กนร.แล้ว จะต้องเสนอสภาพัฒน์ เพื่อเห็นชอบใจโครงการก่อนเสนอต่อครม.
ด้านนายมนต์ชัย หนูสงค์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในการแก้ไขแผนงานคือ ในส่วนของตัวเลขทั้งหลาย อาทิ รายได้ การลงทุนต่างๆ ที่มีการเสนอไปในส่วนของการจะดำเนินธุรกิจแบบไหน จะต้องใช้งบประมาณลงทุนเท่าไหร่ และขึ้นอยู่กับว่า ทีโอที มองเห็นลูกค้าและมีตลาดมากน้อยขนาดไหน โดยในสัปดาห์นี้จะมีการคุยกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และจะต้องคุยกับเอกชนรายอื่นต่อไป ในการดำเนินการร่วมกันโดยที่ ทีโอทีจะต้องเป็นเน็ทเวอร์ค โฟรไวเดอร์ โดยที่เอกชนจะไม่ต้องมีการลงทุนซ้ำซ้อนและมาเช่าสถานีฐานของ ทีโอที
อย่างไรก็ตาม ทีโอที จะต้องดำเนินการเจรจาและทำให้เอกชนมีความมั่นใจในการให้บริการว่าจะสามารถมีโครงข่าย คาปาร์ซิตี้ที่เพียงพอและมีคุณภาพเพื่อรองรับการใช้งานที่ดี ก่อนที่จะมีการประมูล 3 จี ของกสทช. เพราะว่าหากทีโอทีไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับเอกชนได้ทัน หลังจากประมูล 3จี แล้ว เอกชนต่างฝ่ายต่างก็ต้องแข่งขันกันเพื่อที่จะให้มีสถานีฐานที่รองรับลูกค้าได้
"ในส่วนของปัญหาการติดตั้งสถานีฐานตอนนี้นั้น สิ่งที่เป็นปัญหาคือการที่ไม่สามารถเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์และปัญหาการ CO siteที่ติดอยู่ประมาณ 300-400 สถานี โดยจะต้องปรับปรุงงบประมาณให้อยู่ในงบเดิมคือ 15,999 ล้านบาท โดยเราอาจจะมีการสร้างสถานีฐานเองเพื่อให้กลุ่มบมจ.สามารถ คอร์ปเรชั่น (SAMART) เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ได้ทันกำหนดการณ์และมีสถานีรองรับลูกค้าที่เพียงพอ" นายมนต์ชัย กล่าว