นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชียเอวิเอชั้น (AAV) ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า จากการเดินทางโรดโชว์ในต่างประเทศและในประเทศ พบว่า หุ้น IPO ที่จะเสนอขายให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) ของบริษัทได้รับความสนใจอย่างมาก โดยจากการทำ Book Building พบว่ามียอดจองเกิน 11 เท่า จากผู้จองซื้อหุ้นที่เป็นนักลงทุนทั่วไป รวมถึงสถาบันในประเทศและต่างประทศ แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีแต่การจองหุ้นของบริษัทมีการตอบรับที่ดี
สำหรับราคาหุ้น IPO อยู่ที่ 3.70 บาท/หุ้นเป็นราคาดิสเคาท์แล้ว การสำรวจความต้องการซื้อหุ้น IPO ของ AAV ช่วงราคาอยู่ ที่ 3.30 -3.80 บาท/หุ้น ทั้งนี้ คาดว่า หุ้น AAV จะเข้าซื้อขายในตลาด SET ในวันที่ 31 พ.ค. 55
"เทรดวันแรกที่ราคา IPO 3.70 บาทซึ่งเป็นราคาดิสเคาท์แล้ว หุ้นได้รับการจองมากจนไม่เหลือหุ้นเลย เชื่อว่าคนที่จะมาซื้อหุ้น AAV ต้องมาซื้อในกระดานที่ราคาเหนือจอง"นายทัศพล กล่าว
อนึ่ง หุ้น IPO จะเปิดจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 55 จำนวน 1,212.5 ล้านหุ้น แบ่งเป็นเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 750 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญเดิม จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ AAV จำนวนไม่เกิน 462.5 ล้านหุ้น
ด้านนางสาวสุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต ในฐานที่ปรึกษาทางการเงิน AAV กล่าว ณ สิ้นไตรมาส 1/55 AAV ได้ล้างขาดทุนสะสมหมดแล้วด้วยการนำกำไรในไตรมาส 1/55 กว่า 600 ล้านบาทไปดำเนินการ แต่แม้ว่าจะล้างขาดทุนสะสมแล้ว แต่ช่วงแรกที่เข้าตลาดบริษัทจะเน้นการลงทุนเป็นหลัก ขณะที่บริษัทไม่มีหนี้สถาบันการเงิน
"หุ้น AAV น่าจะเป็นหุ้นร้อนแรงในปีนี้ เพราะเห็นว่านักลงทุนและสถาบันมียอดจองเกิน 11 เท่า และราคา IPO ถ้าขาย 3.80 บาท ก็ยังมีคนซื้อ"นางสาวสุวภา กล่า
ทั้งนี้ หุ้นที่ขายครั้งนี้มีจำนวน 1,212.5 ล้านหุ้น จัดสรรรให้นักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ จำนวน กว่า 800 ล้านหุ้น ส่วนนักลงทุนรายย่อย จำนวน 400 ล้านหุ้น โดยหลังการขายหุ้นเพิ่มทุน บริษัทจะมีทุนจดทะเบียน 485 ล้านบาท จากทุนเดิม 410 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท
อนึ่ง จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหุ้น เอเชียเอวิเอชั่นระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 55 โดยมีบล.ธนชาต และ บล.ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย)เป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายนักลงทุนในประเทศ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 10 แห่ง ประกอบด้วย บล.กรุงศรี, บล.ไทยพาณิชย์ , บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย), บล.กสิกรไทย, บล.ทรินีตี้, บล.เอเชียพลัส, บล.บัวหลวง, บล.ฟินันเซีย ไซรัส , บล.ไอร่า และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย)
*มุ่งขยายฝูงบิน
นายทัศพล กล่าวว่า การระดมทุนครั้งนี้บริษัทจะนำเงินบางส่วนลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็น 55%จาก 51% โดย ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัด มีแผนขยายฝูงบินโดยซื้อเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A320 เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ 24 ลำในปัจจุบัน จะเพิ่มเป็น 27 ลำในสิ้นปี 55 และเพิ่มเป็น 48 ลำในปี 59 โดยมีแผนขยายเพิ่มปีละ 4-5 ลำ
ในปี 55 บริษัทตั้งเป้าผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8 ล้านคนจากปีก่อนมีจำนวน 7.2 ล้านคน และ อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เป็น 82% จากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 80% จากการขยายเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการย้ายฐานการบินในกรุงเทพซึ่งปัจจุบันอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิไปที่สนามบินดอนเมือง คาดว่าจะสรุปในอีก 1-2 เดือน แม้ว่าจะมีค่าใข้จ่ายในการย้ายไม่มาก แต่มีรายละเอียดเกี่ยวกับทางวิ่ง (รันเวย์) การขึ้นลงของเครื่องบิน จึงต้องขอเวลาพิจารณาก่อน
ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมการบิน นายทัศพล มองว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจเอเชียจะดี แต่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปยังมีปัญหาจีงมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว บริษัทก็ต้องฝ่าฟันไปได้ โดยบริษัทดำเนินธุรกิจสายการบินมา 9 ปีแล้ว และเจอกับวิกฤตต่างๆ มามาก แต่บริษัทก็ผ่านพ้นไปได้
สำหรับตลาดสายการบินราคาประหยัด(Low Cost Airline) เชื่อว่าตลาดนี้ยังมีความต้องการอยู่โดยคนในเอเชียมีจำนวน 680 ล้านคน เฉพาะในไทย 70 ล้านคน ทำให้เครื่องบินยังไม่เพียงพอรองรับความต้องการ จึงเชื่อว่ายังมีช่องว่างตลาดพอที่ให้สายการบินใหม่เข้ามาแข่งขัน
อนึ่ง ในไตรมาส 1/55 ที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชียได้เปิดเที่ยวบินใหม่ที่ กรุงเทพ-ตรัง , กรุงเทพ- นครพนม และ เชียงใหม่ -มาเก๊า
ในปี 54 บริษัท มีรายได้จากการขายและให้บริการ 8,123.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,014.1 ล้านบาท เพิ่มจากปี 53 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 6,049.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,004.9 ล้านบาท
นายทัศพล คาดว่า ในปีนี้ไทยแอร์เอเชียจะมีรายได้เติบโตกว่า 25% แตะ 2 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิเติบโตในทิศทางเดียวกับรายได้ จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.02 พันล้านบาท โดยสิ้นปีนี้จะมีเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเป็น 32 เส้นทาง จากปัจจุบันมี 28 เส้นทาง เป็นเส้นทางบินต่างประเทศ 16 เส้นทาง และในประเทศ 12 เส้นทาง โดยครึ่งหลังปี 55 จะเน้นเปิดเส้นทางบินในประเทศ ส่วนต่างประเทศจะเปิดที่จีนเป็นหลัก
ในไตรมาส 1/55 มี Cabin Factor อยู่ 87% จากปีก่อนอยู่ที่ 80% และมีกำไรสุทธิ 627 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มรายได้ในไตรมาส 2/55 ต่ำกว่าไตรมาส 1/55 ที่มีรายได้ 4.8 พันล้านบาท และไตรมาส 3/55 ก็คาดว่าจะต่ำกว่าไตรมาส 2/55 เนื่องจากอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น แต่ในไตรมาส 4/55 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปกติไตรมาส 4 จะมีรายได้มากที่สุดของรอบปี
นายทัศพล กล่าวว่า การจ่ายเงินปันผลคงจะมีในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยช่วงนี้บริษัทยังเน้นการลงทุน
ณ สิ้นปี 54 มีขาดทุนสะสม 900 กว่าล้านบาท แต่เนื่องจากมีส่วนของผู้ถือหุ้น 545 ล้านบาท และกำไรสุทธิในไตรมาส 1/55 จำนวน 627 ล้านบาท ทำให้สามารถล้างขาดทุนสะสมได้หมด และส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จำนวน 75 ล้านบาท