นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เชื่อมั่นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 5% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่สิ้นปี 55 จะเติบโตประมาณ 8-9%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงเดินหน้าเต็มที่ โดยปัจจัยในประเทศที่โดดเด่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ก็คือ การเติบโตทางธุรกิจของเมืองหลักใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช อุดรธานี ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต สุราษฎ์ธานี และสงขลา ซึ่งมีการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ทั้งโครงการด้านที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านบาท ทำให้ตลาดมีความน่าสนใจในเชิงธุรกิจอย่างยิ่ง
ดังนั้น ธนาคารจึงตั้งเป้าหมายรุกตลาดต่างจังหวัดอย่างจริงจัง โดยวางกลยุทธ์ทางธุรกิจตอบรับทุกอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบเป็นแพ็คเกจครบวงจร (Total Solution) ทั้งการให้สินเชื่อก่อนและหลังโครงการแล้วเสร็จ การนำเสนอบริการจัดการทางการเงิน (Cash Management) รวมทั้งการดูแลสินเชื่อให้แก่คู่ค้าของธุรกิจตลอดซัพพลายเชน รวมทั้งจัดโครงสร้างทีมงานขายในพื้นที่ใหม่ กระจายตัวอยู่ในศูนย์ธุรกิจ (Business Hub) 5 จุดหลัก เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้ทันท่วงที
อุตสาหกรรมที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ อาทิ พลังงานทางเลือก ซึ่งตอบสนองความต้องการพลังงานของท้องถิ่นและชุมชน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และภาคการค้าส่ง ซึ่งในเบื้องต้นธุรกิจอสังหาริมทัพย์จะเป็นหัวหอกของการเติบโตในตลาดต่างจังหวัดที่สำคัญ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้เริ่มเข้าไปทำตลาด โดยการเจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่ มุ่งครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มจากปัจจุบันที่ 12% เป็น 25-30% ภายใน 3 ปี
นายวศิน กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่น่าไว้วางใจของสภาวะเศรษฐกิจของโลก อันมาจากสถานการณ์ในประเทศกรีซที่อาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการค้าและการลงทุนโดยทั่วไปของโลก แต่สภาวะของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย กลับยังคงมีความเข้มแข็ง โดยเห็นปริมาณการค้าในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่ของการเติบโตมาจากการสร้างความต้องการภายในประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นของไทย ก็มีผลกระทบหลักเพียงบางอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงแรงงานสูง อาทิ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม ภาคบริการอย่างโรงแรม และภาครับเหมาก่อสร้าง ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ โดยทั่วไปที่ใช้แรงงานฝีมือจะไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราค่าจ้างใหม่ จึงยังไม่ก่อให้เป็นปัจจัยลบให้แก่ภาพรวมของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังถึงความผันผวนของตลาดในระยะสั้นและระยะกลาง อันเกิดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของภาคพื้นยุโรปที่จะส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง จึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปิดความเสี่ยงของธุรกิจด้วยเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ
สำหรับในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธนาคารมีการเติบโตของยอดสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่โดยรวมที่ประมาณ 1% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ที่ทดแทนการชะลอตัวของภาคการเกษตร ที่มีปัจจัยทั้งจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการประกันราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและมันสำปะหลัง เป็นการรับจำนำสินค้า รวมทั้งการชะลอตัวของการบริโภคในตลาดโลกที่กระทบต่อราคาและยอดส่งออก
นายวศิน กล่าวว่า รายได้รวมของธนาคารฯ เติบโตขึ้น 17% จากปีที่แล้ว โดยเฉพาะการเติบโตของค่าธรรมเนียมถึง 18% ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการให้บริการธุรกรรมการค้าขายของลูกค้า หรือ Operating account services ซึ่งนับเป็นการสะท้อนภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ตลอดจนการที่ธนาคาร ฯ ให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ รวมมูลค่ากว่า 170,000 ล้านบาท หรือกว่า 100 โครงการ
นอกจากนี้ ยังมีการเจาะตลาดเพิ่มในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลังงาน โดยยอดสินเชื่อที่ธนาคาร ฯ ปล่อยให้แก่อุตสาหกรรมเหล่านี้เมื่อสิ้นไตรมาสแรก มีการเติบโตประมาณ 6-7%
สำหรับแนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ไตรมาส 2/55 คาดว่าขยายตัว 4-5% จากสิ้นปี 54 เนื่องจากแนวโน้มความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นต่อเนื่องมาก 2-3 ไตรมาสแล้ว และแนวโน้มยังดีต่อเนื่อง โดยมองว่ากระบวนการผลิตได้เข้าสู่การผลิตได้เต็มที่แล้ว ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น
"ในไตรมาส 1 ที่สินเชื่อโต 1% เพราะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลมารับจำนำข้าว ทำให้ความต้องการกู้เงินเพื่อใช้ลงทุน ในกระบวนการผลิตต่างๆลดลง" นายวศิน กล่าว